“ไอแบงก์” เผยทิศทางธุรกิจ ปี66 ปั้นแอปพลิเคชั่น Mobile Banking ลดหนี้เสีย 5 พันลบ.

“ไอแบงก์” เผยทิศทางธุรกิจ ปี66 ปั้นแอปพลิเคชั่น Mobile Banking พร้อมเดินหน้าลดหนี้เสีย 5 พันล้านบาท ตั้งเป้าสินเชื่อโต10% 

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ เผยว่า ในปี 2566 ธนาคารมีแผนเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้เสียให้ลดลงประมาณ 5 พันล้านบาท เหลือ 8 พันล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง 6.2 หมื่นล้านบาท โดยพุ่งเป้าแก้ไขปัญหาในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ 3-4 ราย ที่มีมูลหนี้จำนวนมาก หรือราว 50% ของหนี้เสีย  ซึ่งเป็นหนี้ทีค้างมาตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิดโดยการแก้หนี้รายใหญ่ดังกล่าวธนาคารจะใช้กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นช่องทางหลัก ขณะที่ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีจะใช้มาตรการภาครัฐ สำหรับลูกค้ารายย่อยจะใช้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้

สำหรับเป้าหมายสินเชื่อในปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 6 พันล้านบาท หรือขยายตัวที่ 10% จากสินเชื่อคงค้าง โดยให้น้ำหนักที่ไปที่ลูกค้ารายใหญ่ หรือ 1 ใน 3 ของสินเชื่อปล่อยใหม่ เนื่องจาก เล็งเห็นการเติบโตที่สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ โดย 1 ใน 3 อย่างไรก็ดี ในส่วนเอสเอ็มอีและรายย่อยก็จะให้การสนับสนุนสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง สำหรับเงินฝากนั้น ปัจจุบันอยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท หรือ มีฐานลูกค้าเงินฝากที่ 1 ล้านราย

หลังจากที่ได้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการไอแบงก์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ก็ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธนาคารให้ทบทวนแผนยุทธศาสตร์ธนาคาร ซึ่งประกอบด้วยทิศทางการดำเนินงานในระยะยาว 5 ปี และระยะสั้นหรือเร่งด่วนของปี 2566 จึงได้นำเสนอแผนดังกล่าวต่อคณะกรรมการธนาคารและหน่วยงานกำกับดูแล โดยปรับวิสัยทัศน์ของธนาคารใหม่ “เป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการตามหลักชะรีอะฮ์เพื่อความยั่งยืน” เพื่อยกระดับการบริการทางการเงินของธนาคารให้เท่าเทียมสถาบันการอื่น ยึดมั่นในหลักธรรมอิสลามหรือหลักชะรีอะฮ์ ซึ่งเป็นประโยชน์กับทุกศาสนิก ตลอดจนดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี 

.สำหรับยุทธศาสตร์ด้านธุรกิจ ธนาคารเดินหน้าขยายสินเชื่อ SMEs ในกลุ่มธุรกิจเป้าหมายของธนาคาร ตลอดจนการทำ Synergy กับหน่วยงานภาครัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ส่วนสินเชื่อ Corporate ซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวแล้ว ธนาคารก็ยังคงให้การสนับสนุนทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ สำหรับสินเชื่อรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มที่ธนาคารมุ่งเน้นและเติบโตได้ดีอยู่แล้ว ส่วนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาองค์กร ธนาคารจะใช้ระบบเทคโนโลยีและข้อมูลในการปฏิบัติงาน รวมทั้งจะเพิ่มช่องทางการบริการผ่าน Mobile Banking โดยเป็นการพัฒนาผ่านความร่วมมือ กับหน่วยงานภาครัฐซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในไตรมาส 3 นี้

ทั้งนี้รายงานพัฒนาของระบบการเงินอิสลามในปี 65 ของ Refinitiv ผู้ให้บริการข้อมูลอิจฉริยะด้านการเงินและการจัดการความเสี่ยงแถวหน้าของโลกว่า ในปี 64 สินทรัพย์ของระบบการเงินอิสลามรวมทั่วโลกมีถึง 137 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ 17% และมีจำนวนสถาบันที่ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินรวมกว่า 1.65 พันแห่งทั่วโลก จากการวางทิศทางและตั้งเป้าหมายที่กล่าวมา เชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือร่วมใจของทีมงานไอแบงก์ทั้งหมด จะทำให้ในปี 2566 ธนาคารสามารถมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญพร้อมกับการสร้างสรรค์สังคมอย่างยั่งยืน   

#ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย #ไอแบงก์ #StockReview #ข่าวประจำวัน #ข่าวธนาคาร