CIMBT เผยกำไรไตรมาสแรกปี 66 จำนวน 830.1 ล้านบาท

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เผยไตรมาสแรกปี 66 กำไรหด 21.8% เหลือ 830 ล้านบาท เร่งตั้งสำรองสูงถึง 8.6 พันล้านบาท รับความผันผวนทางเศรษฐกิจ

นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานกลุ่มธนาคารว่า มีรายได้จากการดำเนินงาน จำนวน 3,828.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 344.7 ล้านบาท หรือ 9.9 % เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2565 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 1.5 และรายได้อื่นร้อยละ 46.5 สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิร้อยละ 15.0 กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 เป็นจำนวน 1,868.4 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงาน ร้อยละ 9.9 สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ร้อยละ 9.6     สำหรับงวด 3 เดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 ธนาคารมีกำไรสุทธิ จำนวน 830.1 ล้านบาท ลดลง230.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.8 เป็นจำนวน 830.1 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันสาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 128.0 โดยเป็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังและเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวด 3 เดือนปี 2566 และ 2565 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 35.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อ รายได้อื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 367.3 ล้านบาทหรือร้อยละ 46.5 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเงินลงทุน และกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพสุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 57.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.0 มาจากการลดลงของค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยและค่าธรรมเนียมจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้

ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวด 3 เดือนปี 2566 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2565 เพิ่มขึ้นจำนวน 171.1 ล้านบาทหรือร้อยละ 9.6 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขาย อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานงวด 3 เดือนปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 51.2 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2565 อยู่ที่ ร้อยละ 51.4 เป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้จากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน , อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin - NIM) สำหรับงวด 3 เดือนปี2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 เป็นผลจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น

 วันที่ 31 มีนาคม 2566 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 237.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ0.9 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ  วันที่ 31 ธันวาคม 2565 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภทจำนวน 267.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.6 จากสิ้นปี 2565 ซึ่งมีจำนวน 289.7 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 88.6 จากร้อยละ 81.2  วันที่ 31 ธันวาคม 2565

สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.6 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ลดลงเมื่อเทียบกับ  วันที่ 31 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เป็นผลจากการปรับโครงสร้างพอร์ตสินทรัพย์ของธนาคารให้สอดคล้องกับการลดลงของสินเชื่อพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแลและการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ  วันที่ 31 มีนาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 122.6 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 114.6 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท

ด้านเงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร  สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2566 มีจำนวน 57.8 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 22.2 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 16.5