TU เดินหน้าธุรกิจ จับมือ สตาร์ทอัพอังกฤษ วิจัยคอลลาเจนจากแมงกะพรุน

TU จับมือบริษัท เจลลาเจน สตาร์ทอัพ สัญชาติอังกฤษ ระดมทุนซีรีย์เอ จำนวนเงินระดมทุนทั้งสิ้น 8.7 ล้านปอนด์ เพื่อนำมาศึกษาพัฒนาคอลลาเจน จากแมงกะพรุน ต่อยอดธุรกิจในอนาคต เป็นผู้นำด้านจัดหาวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์  ส่งผลต่อแนวโน้มกำไรปรับบวกมากขึ้น 15.7%

     บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ผู้นำด้านการผลิตอาหารทะเลระดับโลก  ประกาศเข้าร่วมกับผู้ร่วมลงทุนเชิงกลยุทธ์รายอื่น ๆ ในการลงทุนกับบริษัท เจลลาเจน บริษัทสตาร์ทอัพของประเทศอังกฤษ ในรอบการระดมทุนซีรีย์เอที่ทางเจลลาเจนได้ระดมเงินทั้งสิ้น 8.7 ล้านปอนด์ การลงทุนของไทยยูเนี่ยนในครั้งนี้เป็นการลงทุนผ่านกองทุน Venture Fund ของบริษัท

     บริษัท เจลลาเจน เป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 เป็น ดำเนินธุรกิจทางด้านพัฒนาคอลลาเจนในรูปแบบของวัสดุชีวภาพจากแมงกะพรุน หรือ ศาสตร์การรักษาโรคต่างๆ ผ่านการเข้าไปฟื้นฟูความเสื่อมของร่างกายโดยลงลึกไปถึงระดับเซลล์ ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์และวิธีการเพาะเลี้ยง  การศึกษาเบื้องต้นจากเจลลาเจนพิสูจน์ได้ว่า คอลลาเจน ชนิด 0 ซึ่งมาจากแมงกระพรุน มีคุณสมบัติที่ดีกว่าคอลลาเจนจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะในทางการรักษาและการแพทย์  การระดมทุนในรอบนี้จะถูกนำไปใช้ในการเร่งการพัฒนาทางการแพทย์ให้กับคอลลาเจน ชนิด 0  ตลอดจนวัสดุชีวภาพคอลลาเจนที่มีความยั่งยืน ที่จะถูกใช้ในการรักษาโรคทางผิวหนัง และเป็นวัสดุชีวภาพสำหรับการสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่

    การลงทุนของไทยยูเนี่ยนครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือในการจัดหาวัตถุดิบ การผลิตและการนำไปใช้ในสินค้าที่ไทยยูเนี่ยนมีอยู่และสินค้าที่พัฒนาขึ้นในอนาคต


    นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเล เราพยายามอย่างยิ่งในการยกระดับนวัตกรรมในธุรกิจและสินค้าของเรา เจลลาเจนนั้นถือเป็นผู้นำในการวิจัยคอลลาเจนจากแมงกระพรุนและกำลังพัฒนาคอลลาเจนจากทะเล ซึ่งจะได้นำมาใช้ในการแพทย์ เครื่องสำอาง อาหาร และโภชนาการ ไทย ยูเนี่ยนหวังที่จะได้ร่วมงานทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงโรงงานผลิตทั่วโลก”

            การลงทุนในครั้งนี้เป็นการช่วยในการจัดการวัตถุดิบของเจลลาเจน และขยายกำลังการผลิตในอนาคต รวมถึงการเป็นผู้เล่นใหญ่ในอุตสาหกรรมคอลลาเจนชนิด 0  จะช่วยให้เทคโนโลยีของเจลลาเจนเติบโตได้อีกมาก

            TU ได้จัดตั้งกองทุน  Venture Fund ในปี 2562 โดยมุ่งลงทุนในสตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโปรตีนทางเลือก สารอาหารเพื่อสุขภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพ ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจอาหาร และการลงทุนเชิงกลยุทธ์ โดยการลงทุนจะร่วมกับบริษัทต่าง ๆ  สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาให้สอดคล้องไปกับความมุ่งมั่นของบริษัท ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรของท้องทะเล หรือ Healthy Living , Healthy Ocean

     บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้คำแนะนำหุ้น TU โดยคาดว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในยุโรป สหรัฐ เนื่องจากสินค้ามีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และราคาต่ำกว่าเมื่อเทียบกับราคาอาหารชนิดอื่น แต่บริษัทได้รับผลกระทบจากต้นทุนไฟฟ้าในยุโรปที่สูงขึ้น

    ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มกำไรของ TU และปรับประมาณการกำไรปกติปี 2565 และปี 2566 ขึ้น 15.7% และ 1.3% เป็น 7,047 ล้านบาท (-27%YoY) และ 7,541 ล้านบาท (+7%YoY) ตามลำดับ อิงวิธี SOTP ได้ราคาเหมาะสมใหม่ที่ 23.50 บาท คำแนะนำ “ซื้อ” คาดเบื้องต้นผู้ถือหุ้น TU จะได้สิทธิในการซื้อหุ้น ITC ที่ราคา IPO สัดส่วน 36 หุ้น TU ต่อ 1 หุ้น ITC