หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลง อีกทั้งความเสี่ยงจากการเกิด recession ของสหรัฐฯ ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเร่งตัวเพิ่มสูงขึ้น นักวิเคราะห์จึงประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตเร็วกว่าคาด ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบรับเชิงบวกและปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังอ่อนค่าลงไปอย่างมากในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาจากที่เคยแข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ การทยอยผ่อนปรนกฎเกณฑ์ควบคุม COVID-19 ในจีนสะท้อนว่าทางการจีนมีความตั้งใจจะเปิดประเทศมากขึ้นในปี 2566 ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นจีนเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และหากเศรษฐกิจจีนมีพัฒนาการเชิงบวกต่อเนื่องอาจทำให้ตลาดหุ้นไทยได้อานิสงส์จากเงินทุนไหลกลับเข้าสู่ภูมิภาคอีกระลอก
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ใน 11 เดือนแรกปี 2565 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก จากเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวดีต่อเนื่องในไตรมาส 3/2565 ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า และการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในช่วง 3 ไตรมาสแรกฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาด COVID-19 อีกทั้งนักวิเคราะห์ยังปรับประมาณการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนใน SET ให้เติบโตดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 SET Index ปิดที่ 1,635.36 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 1.7% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 SET Index ปรับลดลงอยู่ที่ 1.3%
• อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ระดับ 2.81% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.11%
ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เดือนพฤศจิกายน 2565 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 504,651 สัญญา ลดลง 1.4% จากเดือนก่อน และในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 TFEX ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 554,370 สัญญา ลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures