กฟผ. - สผ. เดินหน้าอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

กฟผ. - สผ. ร่วมมือขับเคลื่อนการจัดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย โดยมีนางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า นางสาวจิตตินันท์ เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 6 ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรี และผู้แทนจากชุมชน ร่วมเป็นสักขีพยาน  ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ. นนทบุรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา


นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในระดับโลก จึงได้ดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้วางยุทธศาสตร์องค์การมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ.2065 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.-กฟผ.) ในพื้นที่รอบเขื่อนและโรงไฟฟ้าของ กฟผ. มาโดยตลอด เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อันจะช่วยลดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป สำหรับความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และ สผ ในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการ การดำเนินงาน องค์ความรู้ทางวิชาการ และสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพระหว่าง 2 หน่วยงาน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนา และต่อยอดการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ให้สามารถบรรลุเป้าหมายของประเทศไทย โดยในวันดังกล่าว กฟผ. ได้จัดกิจกรรมเปิดบ้านต้อนรับนกแก้วโม่ง โดยติดตั้งรังเทียม เพื่อเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของนกแก้วโม่ง และกิจกรรมปลูกต้นไม้ลดโลกรวน ปลูกต้นกรวย ยางนา ทุเรียนนนท์ ณ บริเวณสวน 50 ปี กฟผ. 



ด้าน ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า สผ. ได้ดำเนินงานด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดีในการติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่ออนุรักษ์ชนิดพันธุ์หายาก ชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น ได้แก่ ทุเรียนนนท์และนกแก้วโม่ง ซึ่งเป็นพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ที่มีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนนทบุรี สผ. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ กฟผ. มีการดำเนินงานในการอนุรักษ์นกแก้วโม่ง ซึ่งเป็นนกแก้วขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย และมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ แต่ยังสามารถพบนกแก้วโม่งฝูงใหญ่ในบริเวณพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้กับ กฟผ. รวมทั้งมีการอนุรักษ์ทุเรียนนนท์ และอนุรักษ์ระบบนิเวศเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดนนทบุรี ที่ยังคงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินอันเนื่องมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน