KCC ลุ้นQ2 ปิดดีลซื้อหนี้ ดันพอร์ต NPLs โตเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

KCC เผยไตรมาส 2 คาดดีลซื้อหนี้เอ็นพีแอลเสร็จสิ้น ขยายพอร์ตลูกหนี้โตเฉียด 100% ทันทีขณะที่ลูกหนี้เดิมกลับมาเดินหน้าตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามปกติหลังรัฐบาลคลายล็อคดาวน์เต็มที่ ทำให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ส่งผลให้ยอดเงินสดรับของบริษัทเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มั่นใจปี 65 กำไรโตต่อ โดยยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรได้ในระดับสูง แย้มพอร์ตลงทุนหรือลูกหนี้มีโอกาสโตทะลุ 2.1 พันล้าน ได้ก่อนเป้าหมายปี 67

นายทวี กุลเลิศประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล (KCC)  ผู้ดำเนินธุรกิจจัดหาและบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เปิดเผยในงาน Opportunity Day ถึงทิศทางธุรกิจ AMC ในไตรมาส 2 และตลอดทั้งปี 2565 ยังมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าภายในไตรมาส 2 ปีนี้   บริษัทจะดำเนินการจัดซื้อหนี้  NPLs จากสถาบันการเงินได้เสร็จสิ้น โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท ภายหลังจากบริษัทได้เงินจากการระดมทุน ด้วยการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอจำนวน 592 ล้านบาทและจากการเสนอขายหุ้นกู้ มูลค่า 350 ล้านบาท ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาในมือเกือบ 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย เพื่อขยายพอร์ตลูกหนี้  NPLs ของบริษัท ส่งผลให้เงินลงทุนหรือพอร์ตลูกหนี้ NPLs จะเติบโตขึ้นเกือบเท่าตัวจากสิ้นไตรมาส 1 ปี 65 ที่พอร์ตลูกหนี้ NPLs อยู่ที่527.40 ล้านบาทและในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ บริษัทยังคงมีแผนเดินหน้าซื้อหนี้  NPLs เข้าพอร์ตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าใช้เงินลงทุนซื้อหนี้ NPLs มากกว่า 800 ล้านบาท แม้เป้าหมายกำหนดไว้ว่าสิ้นปี 67 พอร์ตลูกหนี้ของบริษัทจะขยับขึ้นไปอยู่ในระดับที่มากกว่า 2,100 ล้านบาท แต่หากเห็นโอกาสทางธุรกิจเข้ามา บริษัทก็พร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

นายทวี กล่าวว่า เชื่อว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้้ สถาบันการเงินจะยังคงนำลูกหนี้ NPLs ในระบบที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูงออกมาประมูลขายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากตัวเลขล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่าสถาบันการเงินทั้งระบบมี NPLs  สิ้นไตรมาสแรกปี 65 อยู่ที่ 531,890 ล้านบาท จึงเป็นโอกาสของธุรกิจบริหารจัดการหนี้ NPLs และธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่ยังคงมี supply หรือปริมาณหนี้ NPLs จากระบบสถาบันการเงินมาให้บริหารจัดการได้อีกมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพอร์ตลงทุน หรือพอร์ตลูกหนี้ NPLs ของบริษัท ทำให้ธุรกิจ AMC ของบริษัทยังคงมีทิศทางหรือแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก โดยเป้าหมายของบริษัทยังคงเน้นหนี้ NPLs ภาคธุรกิจ หรือ Corporate Loans ในสัดส่วน 70% และหนี้ NPLs สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ Housing Loans ในสัดส่วน 30% โดยพิจารณาหลักประกันที่มีคุณภาพและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของบริษัทในการพิจารณาเลือกซื้อหนี้และการบริหารจัดการหนี้  NPLs ที่เน้นหนี้ภาคธุรกิจ หรือ Corporate Loans หากเห็นโอกาสทางธุรกิจหรือมีหนี้NPLs ที่สามารถบริหารจัดการและสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ บริษัทก็พร้อมเข้าไปจัดหา เพื่อนำมาบริหารจัดการเพราะนอกจากมีเงินทุนที่ได้จากการขายหุ้นไอพีโอและออกหุ้นกู้แล้ว บริษัทยังสามารถเพิ่มการกู้ยืมเงินได้อีกมาก เพราะปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทหลังไอพีโออยู่ในอัตราต่ำเพียง 0.58 เท่า เท่านั้นทำให้ยังสามารถกู้เงินมาขยายพอร์ตได้อีกมากและการเข้าเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบริษัททำได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้ามีอัตราส่วน D/E ได้สูงสุดไม่เกิน 2 เท่าและขณะนี้มีสถาบันการเงินพร้อมสนับสนุนเงินกู้เพื่อให้บริษัทนำมาซื้อหนี้ NPLs ขยายธุรกิจดังนั้นจึงมีโอกาสที่พอร์ตลงทุนหรือพอร์ตลูกหนี้ NPLs จะโตทะลุ 2,100 ล้านบาท ได้ก่อนเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี67” นายทวี กล่าว

นายทวี ยังกล่าวว่า นอกจากนี้หลังรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ ส่งผลให้ลูกหนี้ของบริษัทกลับมาเดินหน้าดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างหนี้กับบริษัทได้มากขึ้น โดยกลับมาชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามแผน หลังจากในช่วงปี 2564 ลูกหนี้บางราย ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ  ล็อคดาวน์ได้ขอหยุดชำระเงินต้น โดยแบ่งผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จึงกลับมาดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ได้ ส่งผลให้บริษัทสามารถเก็บเงิน หรือมีเงินสดรับ (Cash Collection)  เข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีลูกหนี้บางรายสามารถฟื้นฟูกิจการสำเร็จ กลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ทั้งหมดและปิดบัญชีลูกหนี้กลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ปลดล็อคการเป็นลูกหนี้ NPLs เข้าสู่ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ตามปกติ ซึ่งถือว่าบริษัทประสบความสำเร็จในการช่วยฟื้นฟูกิจการ บริหารจัดการหนี้ให้ลูกหนี้ที่มีปัญหากลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อีกครั้ง