“SET”ก้าวสู่ปีที่ 48 ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต - Make it Work for Future

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” มองบทบาทตลาดเงิน ตลาดทุน สู่จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย - Towards the Future of Thai Economy” 

27 เมษายน 2565 ดรประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ SET ก้าวสู่ปีที่ 48 ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต โดยกล่าวถึง โอกาสและความท้าทายของตลาดทุนไทยจะมีแนวโน้มใน เรื่องสำคัญเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวดังต่อไปนี้

1. พัฒนาการทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ "ความขัดแย้งหรือสงครามต่างๆ สามารถกระจายความเสี่ยงไปได้ทั่วโลกและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ" ในช่วงที่ผ่านมา ความเสี่ยงด้าน geopolitics มีมากขึ้น ครอบคลุมทั้งเหตุการณ์การเมือง ความสัมพันธ์ ปัญหาสังคม และความขัดแย้งทั้งในและต่างประเทศ มีการกระจายตัวไปทั่วโลกและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มีผลเชื่อมโยงต่อตลาดทุนโลกและตลาดทุนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายๆ ด้าน เช่น ความผันผวนของราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อที่กระทบต่อผู้คนในสังคมจำนวนมาก ดังตัวอย่างเรื่องความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐ-จีน หรือความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่กำลังเกิดขึ้นที่อาจเกิดฉากทัศน์และพัฒนาการของความขัดแย้งได้หลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละฉากทัศน์ก็อาจมีเครื่องมือหรือมาตรการในการขับเคลื่อนที่แตกต่างกัน ทั้งมาตรการด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง

2. ความท้าทายจากสถานการณ์โควิด "เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ขณะที่บางธุรกิจยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ทั้งโลกต่างได้รับผลกระทบโดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจไทยตอนนี้เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด แต่ในด้านเศรษฐกิจและตลาดทุนยังคงได้รับผลกระทบและฟื้นตัวได้แตกต่างกันไป การฟื้นตัวแบบ K-shape คือกลุ่มที่ฟื้นตัวได้เร็ว หรือ K ขาบน เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์โควิด-19 เติบโตทิศทางเดียวกับการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก ในขณะที่บางกลุ่มอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว หรือเป็น K ขาล่าง เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น ภาคการท่องเที่ยวและบริการยังต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็มีการผลักดันและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้ธุรกิจ SMEs และ startups สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น ผ่าน LiVE Platform ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งแหล่งความรู้ให้กับธุรกิจ เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดทุน และเปิดกระดานซื้อขายในตลาดรองผ่าน LiVE Exchange ที่จะเปิดให้บริการในปี 2565 นี้  

3. การปรับตัวและกระบวนการ Digitalization "Digital Disruption คือโอกาสและความท้าทายของตลาดทุนไทยกระแส digital disruption ได้เข้ามามีบทบาทและส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ และตลาดทุนเป็นอย่างมาก ทั้งด้านโอกาสและความท้าทายในการดำเนินงานของหลายองค์กร เริ่มมีการปรับตัว นำ digital technology เข้ามาใช้ ด้านตลาดทุนเองก็มีการผลักดันด้าน digitalization เพื่อส่งเสริมความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจผ่านการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ กระบวนการ digitalization ในตลาดทุนยังครอบคลุมถึงฝั่งผู้ลงทุนมีแนวโน้มในการใช้ digital technology เพื่อเข้าถึงการลงทุนที่เปิดกว้างมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีออนไลน์ การพิสูจน์และยืนยันตัวตน หรือการเสริมความรู้ในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพที่e-Learning Platform แต่อย่างไรก็ตาม องค์กรในตลาดทุนควรให้ความสำคัญกับเรื่อง cybersecurity ด้วย  เพราะกระบวนการdigitalization ที่เข้ามา อาจเป็นช่องทางให้ผู้ไม่ประสงค์ดีก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ทั้งทางการเงินและชื่อเสียงได้

4. พัฒนาการด้านสินทรัพย์ดิจิทัล "Cryptocurrency โอกาส หรือ ความเสี่ยง digital technology เข้ามามีบทบาทในภาคการเงิน โดยเฉพาะ Distributed Ledger Technology (DLT) หรือblockchain ที่ถูกนำมาใช้ในภาคการเงินอย่างกว้างขวาง และเป็นพื้นฐานของ cryptocurrency ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก เทคโนโลยียุคดิจิทัลสมัยใหม่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีกฎระเบียบที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นทั้งโอกาสด้านนวัตกรรมและความเสี่ยง ควรมีการพัฒนา กำกับดูแลให้มีความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม

สำหรับประเทศไทยนั้น ภายใต้โครงสร้างการกำกับดูแลในปัจจุบัน สินทรัพย์ดิจิทัลแบ่งได้ 3 ประเภทหลักๆ คือcryptocurrency,  investment token และ utility token โดยภาคธุรกิจและกิจการต่างๆ อาจเลือกระดมทุนด้วยการออก investment token และ utility token  ตลาดหลักทรัพย์ก็ได้มีการเตรียมพร้อม platform ที่มีลักษณะเป็น open architecture ซึ่งอยู่ระหว่างขออนุญาตทำธุรกิจ digital asset exchange ที่พร้อมเชื่อมต่อและให้บริการร่วมกับ partner ต่างๆ เพื่อให้บริการการลงทุน การระดมทุน และบริการที่เกี่ยวเนื่องในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยจะเน้นให้บริการด้าน digital tokens ทั้ง utility และ investment token

5. ความยั่งยืนกับการพัฒนาตลาดทุน "ESG ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอดของธุรกิจในอนาคตการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น ต้องมีการขยายแนวคิดให้กว้างขวางขึ้น โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยด้าน ESG (Environmental, Social and Governance)

หลักธรรมาภิบาลหรือ governance ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน”  การที่องค์กรให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ย่อมมีผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น ตลาดทุนไทยจะมีบทบาทในการผลักดันให้องค์กรมีการเปิดเผยข้อมูล ESG พร้อมกับการพัฒนาระบบนิเวศธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปิดเผยข้อมูลและรายงานด้านความยั่งยืนแก่ผู้ลงทุน นับเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้ใช้ข้อมูลได้เห็นถึงมุมมองการดำเนินธุรกิจในมิติที่กว้างกว่าข้อมูลทางการเงิน ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กร  

นอกจากจะส่งเสริมการนำหลัก ESG มาพัฒนาการดำเนินงานตามลักษณะการประกอบการของธุรกิจแล้วตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ส่งเสริมเรื่อง ESG ให้กับทุก stakeholders ในตลาดทุนผ่านโครงการต่างๆ เช่น การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะ การปลูกป่า และเตรียมพัฒนา ESG Data Platform เพื่อการนำข้อมูลด้าน ESG ไปใช้ในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

"ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุลได้กล่าวปิดท้ายไว้ว่า ตลาดทุนไทยเติบโตขึ้นมาก ทั้งในแง่การเป็นแหล่งเงินทุนและช่องทางการลงทุน  ส่งเสริมความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจ  ผ่านการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานพร้อมสนับสนุนเรื่องความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสีย และเมื่อมองไปข้างหน้า เราน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับก้าวต่อไปของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เราพร้อมรับทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือต้อง “Rethink” และ “Redesign” เพื่อปรับตัวและใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่หยุดที่จะพัฒนาตลาดทุนให้เป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป