FSMARTแจกปันผลอีก 0.20บ./หุ้น รวมจ่ายทั้งปี 0.46บ./หุ้น โชว์ผลงานปี 64 ปั๊มกำไร 400 ล้านบาท

FSMART ปันผลอีกหุ้นละ 0.20 บาท รวมทั้งปีปันผลรวมหุ้นละ 0.46 บาท โชว์งบปี 64 รายได้ 2,679 ล้านบาทกำไร 400 ล้านบาท แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ผู้บริหารชี้เติมเงิน e-Wallet โตไม่แผ่ว แถมโกยรายได้จากจำนวนธุรกรรมโอนเงินที่เพิ่มขึ้น 14.4% พร้อมรับกระแสตู้ ”เต่าบิน” ฟีเวอร์ เผยแผนปี 2565 ลุยทั้งออฟไลน์และออนไลน์ สร้าง Ecosystem เต็มรูปอย่างแท้จริง คาดการเติบโตโดยรวม 10-15% เล็งแบงก์ non-bank เพิ่มมากกว่า 2 ราย ขยาย “บุญเติม Mini ATM” พร้อมมุ่งเน้นบริการออนไลน์ขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ เตรียมเปิดผลิตภัณฑ์สินเชื่อรอบใหม่วงเงิน 1,000 ล้านบาท มั่นใจปั้นสินเชื่อและเต่าบินเป็น New S Curve ให้กับบริษัทระยะยาว

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) “FSMART” ผู้นำเครือข่ายช่องทางบริการอัตโนมัติและการเงินครบวงจร ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ภายใต้ชื่อ “บุญเติม” เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท จากกำไรสุทธิของงวดดำเนินงานวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่11 มีนาคม 2565 และกำหนดจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 เมษายน 2565 ทั้งนี้ บริษัทจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแล้ว 0.26 บาทต่อหุ้น รวมจ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2564 เท่ากับ 0.46 บาท/หุ้น

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานงวดปี 2564 แม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรง แต่บริษัทยังสามารถทำรายได้รวม 2,679 ล้านบาท ลดลง 179.4 ล้านบาท หรือ 6.3% จากช่วงเดียวกันปี 2563 ที่มีรายได้ 2,859 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 400 ล้านบาท ลดลง 64.0 ล้านบาท หรือ 13.8 % เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา สาเหตุส่วนใหญ่จากการครบกำหนดการใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีจากการลงทุนเพิ่มตู้ในปี 2559 จำนวน 34 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าเติมเงินรวมอยู่ที่ 37,981 ล้านบาท ลดลง 1.7% จากปี ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 4 บริษัทมีรายได้รวม625.19 ล้านบาท เป็นกำไรสุทธิ 80.78 ล้านบาท ลดลง 15.0% จากไตรมาสที่ผ่านมา และ 26.8 % จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน

ปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถขยายช่องบริการใหม่ ทั้งตู้บุญเติมรูปแบบใหม่ บุญเติม Mini ATM และเคาน์เตอร์แคชเชียร์ CenPay powered by Boonterm แม้ว่าบริษัทยังคงดำเนินการในสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังสามารถรับมือได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะธุรกิจบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจรที่มีอัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้น 14.4% จากปีก่อน จากสร้าง Ecosystem ธุรกรรมทางการเงินแบบครบวงจร และการเพิ่มตัวแทนธนาคารและ Non-bank ต่อเนื่อง รวมถึงธุรกรรมการเงินออนไลน์อย่างการเติมเงิน e-Wallet มียอดเพิ่มสูงขึ้น 47.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนด้วย เช่นเดียวกับธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและการกระจายสินค้าที่เติบโตจากการขยายจุดบริการอย่างต่อเนื่องจากกระแสคาเฟ่อัตโนมัติเต่าบินที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย  ขณะที่ธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติก็มียอดใช้งานสม่ำเสมอ ด้วยบริการใหม่ๆที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้อย่างครอบคลุมมากขึ้น” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ส่วนการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทคาดการณ์การเติบโตโดยรวม 10-15% โดยวางเป้าหมายเป็นตัวแทนธนาคารและกลุ่ม Non-bank เพิ่มอย่างน้อย 2 ราย จากปัจจุบัน 7 ราย และขยาย “บุญเติม Mini ATM” 10,000 จุดทั่วประเทศ ภายใน 2 ปีตามแผน พร้อมพัฒนาขีดความสามารถให้บริการได้ทั้งในประเทศและโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้บุญเติมเป็นธนาคารชุมชนครบวงจรด้วยบริการทางการเงินทั้งฝาก-โอน-ถอนเงินสดและบริการ e-KYC ที่มีจุดบริการมากที่สุด ผ่านตู้บุญเติมกว่า 130,000 จุด เคาน์เตอร์แคชเชียร์ “CenPay powered by Boonterm” กว่า 1,700 จุดทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางแอปพลิเคชันที่ร่วมพัฒนากับคู่ค้าที่จะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

 

ขณะเดียวกัน จะมุ่งเน้นการจัดหาบริการให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตปัจจุบันผ่านช่องทางใหม่  รวมถึงช่องทางโมบายแอปพลิเคชั่น ซึ่งสามารถให้บริการได้ครบถ้วน อาทิ บริการเติมเงิน e-Wallet บริการ Data Package ในการใช้อินเตอร์เน็ต บริการรับชำระสินค้ากลุ่มประกันภัย บริการสินเชื่อ และบริการอื่น  เพื่อขยายฐานและรองรับลูกค้ากลุ่มใหม่ นอกเหนือจากการรักษาฐานลูกค้าออฟไลน์ที่มีการใช้งานกว่า 1.3 ล้านรายการต่อวันนอกจากนี้ บริษัทเตรียมบริการด้านสินเชื่อด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ เช่น สินเชื่อผ่อนชำระสินค้า สินเชื่อจำนำทะเบียน ด้วยเป้าการปล่อยสินเชื่อวงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยทั้งหมดจะช่วยสร้าง Ecosystem ให้กับบริษัทอย่างเต็มรูปอย่างแท้จริง

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการระบบ การหาทำเลที่ตั้งที่มีคุณภาพและกระจายสินค้าอย่างทั่วถึง ด้วยจุดแข็งด้านเครือข่ายทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขยายจุดติดตั้งคาเฟ่อัตโนมัติ “เต่าบิน” ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ให้บริการเครื่องดื่มชงสดทั้งร้อนเย็น และปั่น ตลอด 24 ชั่วโมง ให้ได้ 20,000 จุดทั่วประเทศภายใน 3 ปี พร้อมจัดการระบบที่มีประสิทธิภาพให้กับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ “EV Net” ที่สามารถให้บริการเชิงพาณิชย์และส่วนตัว โดยเชื่อธุรกิจดังกล่าวจะเป็นฐานรายได้ใหม่ (New S Curve) ที่สร้างผลกำไรให้กับบริษัทในระยะยาว