GULF กำไรโตต่อเนื่อง รับรู้กำไรจากการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 เท่ากับ 2293 ล้านบาท

GULF กำไรโตต่อเนื่อง รับรู้กำไรจากการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 เท่ากับ 2,293 ล้านบาท โต 73% จากปีก่อน


นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน เปิดเผยว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) จำนวน 2,293 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 968 ล้านบาท หรือคิดเป็น 73% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการรับรู้รายได้เงินปันผลจาก INTUCH จำนวน 1,666 ล้านบาท ประกอบกับรับรู้ผลกำไรของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 2,650 เมกะวัตต์ หน่วยที่ 1 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 662.5 เมกะวัตต์ ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 และกำไรที่เพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้า 12 SPP ภายใต้กลุ่ม GMP จากปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และลูกค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องประดับ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มบรรจุภัณฑ์ โดย 12 SPP มี Load Factor เฉลี่ยของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสนี้ เท่ากับ 59% เทียบกับ 57% ปีที่แล้ว นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้า 7 SPP ภายใต้กลุ่ม GJP ยังสามารถขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากกลุ่มสิ่งทอ และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี Load Factor เฉลี่ยของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเท่ากับ 61% เมื่อเทียบกับ 60% ในปีก่อน อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้า GNS ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้ GJP มีการหยุดซ่อมบำรุงในไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นเวลา 10 วัน จึงส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานของ GJP ลดลงในไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563

สำหรับไตรมาส 3 ปี 2564 GULF บันทึกกำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ ซึ่งรวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน เท่ากับ 1,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% จาก 970 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2563 เนื่องจากบันทึกผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Unrealized Loss) จำนวน 767 ล้านบาท จากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่อ่อนค่าลงจาก 32.22 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นไตรมาส 2 มาเป็น 34.09 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564

ในส่วนของรายได้รวม (Total Revenue) GULF บันทึกรายได้รวมเท่ากับ 13,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,035 ล้านบาท หรือคิดเป็น 58% จากไตรมาส 3 ปี 2563 จากการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1 ที่เปิดดำเนินการในไตรมาส 1 ปี 2564 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ที่ประเทศเยอรมนี ที่รับรู้รายได้ครั้งแรกในไตรมาส 4 ปี 2563 นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายไฟฟ้าและไอน้ำของโครงการโรงไฟฟ้า 12 SPP และรายได้เงินปันผลรับจาก INTUCH อีกด้วย อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ GTN1 และ GTN2 ที่ประเทศเวียดนาม ลดลงเล็กน้อยจากการจำกัดการรับซื้อไฟฟ้าชั่วคราว (Temporary Curtailment) เนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดสูงของ COVID-19 และมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเวียดนาม

อัตรากำไรขั้นต้นจากการขาย (Gross Profit Margin) ในไตรมาสนี้ เท่ากับ 24.6% ลดลงจาก 25.9% ในไตรมาส 3 ปี 2563 เนื่องจากต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 14% (จาก 235.22 บาท/ล้านบีทียู เป็น 268.61 บาท/ล้านบีทียู) ในขณะที่ค่า Ft เฉลี่ยลดลงจากปีก่อน 29% (จาก -0.1188 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น -0.1532 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง) อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก GULF มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ถึง 90% ซึ่งต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติจะถูกส่งผ่าน (pass through) ในรูปของรายได้ค่าไฟฟ้าทั้งหมดไปให้ กฟผ. ในขณะที่มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพียงแค่ 10% ดังนั้นจึงได้รับผลกระทบอย่างจำกัดจากราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับอัตรากำไร EBITDA Margin ในไตรมาสนี้ เท่ากับ 44% เมื่อเทียบกับ 40% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้เงินปันผลรับจาก INTUCH

ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 GULF มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) เท่ากับ 2.34 เท่า สูงขึ้นจาก 1.75 เท่า ณ สิ้นงวดไตรมาส 2 ปี 2564 สาเหตุหลักเนื่องจาก GULF ได้ทำการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินจำนวน 48,612 ล้านบาท เพื่อชำระค่าหุ้นของ INTUCH ที่ได้มาจากการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4 ปี 2564 คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นจะลดลงมาที่ประมาณ 2.00 เท่า หลังจากที่ GULF เปลี่ยนวิธีบันทึกบัญชีสำหรับเงินลงทุนใน INTUCH มาเป็นวิธีส่วนได้เสีย (Equity Method) ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากกำไรที่เกิดจากการปรับมูลค่าต้นทุนเฉลี่ยของ INTUCH ให้เป็นมูลค่าตลาด ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 (วันที่มีการเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชี)

นางสาวยุพาพิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในไตรมาส 3 ปี 2564 GULF ได้ออกหุ้นกู้มูลค่ารวมทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) โดยหุ้นกู้มีอายุเฉลี่ย 6 ปี ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.5% และได้นำเงินจากการเสนอขายหุ้นกู้ส่วนหนึ่งมาชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นที่ใช้ในการซื้อหุ้น INTUCH และเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจในอนาคต นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 BGSR 6 และ BGSR 81 ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง GULF บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียนิ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน (Private Public Partnership: PPP) กับกรมทางหลวง เป็นระยะเวลา 30 ปี เพื่อดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชศรีมา (M6) ระยะทาง 196 กิโลเมตร และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96 กิโลเมตร โดยคาดว่าทั้ง 2 โครงการจะเริ่มงานก่อสร้างภายในเดือนธันวาคม 2564 และมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2567 

นอกจากนี้ GULF ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาและดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด และเพื่อให้ธุรกิจสอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกที่เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และพร้อมรองรับการขยายตัวของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในอนาคต GULF จึงได้ปรับโครงสร้างการลงทุนในกลุ่มบริษัท โดยจัดตั้งบริษัท Gulf Renewable Energy ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ GULF ถือหุ้น 100% มาดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด เช่น โครงการพลังงานลม โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการโซล่าร์รูฟท็อบ โครงการพลังงานชีวมวล และโครงการพลังน้ำ รวมถึงศึกษาโครงการพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย GULF มีนโยบายไม่ลงทุนในธุรกิจถ่านหิน (No Coal Policy) และตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมของ GULF ภายในปี 2573 

นางสาวยุพาพิน กล่าวต่อว่า สำหรับไตรมาส 4 ปี 2564 GULF มีความคืบหน้าของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 โครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 2 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 662.5 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นไปตามแผน นอกจากนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ที่ GULF ร่วมทุนกับบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และ CHEC OVERSEA INFRASTRUCTURE HOLDING PTE. LTD. เพื่อดำเนินธุรกิจขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าเทียบเรือน้ำลึกนั้น คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 และสำหรับความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ประเทศลาว ได้แก่ โครงการ Pak Beng กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ และโครงการ Pak Lay กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) กับ กฟผ. ได้ภายในสิ้นปี 2564 เช่นกัน