เปิดมุมมอง กบข . ผู้ริเริ่ม Sustainable Thailand พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน



ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์  กับบทบาทเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

 

    ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์  เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563   กับประสบการณ์การทำงานที่ กบข. มาเป็นระยะเวลากว่าสิบปี ก่อนเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ พร้อมกับเป้าหมายหลักคือ  การสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่สมาชิก กบข. นับเป็นความท้าทาย กับการบริหารในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ระบาดทั่วโลก  ล่าสุด กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง, องค์การสหประชาชาติ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และธนาคารกสิกรไทย จัดงาน ‘Sustainable Thailand 2021’ โดยรวมพลังนักลงทุนสถาบันและธนาคารรวม 43 หน่วยงาน ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันกว่า 40.18 ล้านล้านบาท ร่วมลงนามประกาศเจตจำนง ‘Sustainable Thailand’ โดยมีผู้นำจากหลากหลายองค์กรมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ และเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์เพื่อ เป็นแนวทางให้ทุกธุรกิจที่อยากขับเคลื่อนด้วย ESG ได้นำไปใช้
 
รู้จักกับสมาชิก  กบข. ในปัจจุบัน
               ในส่วนของสมาชิก กบข. จะเป็นข้าราชการเท่านั้น จำนวนสมาชิกจะเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนข้าราชการที่เข้ามาแต่ละปี เพราะว่าข้าราชการที่บรรจุเข้ามาจะต้องเป็นสมาชิก กบข. ตามกฎหมาย หากนับตั้งแต่ปี 2540  ก็จะเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 2-3 หมื่นคน  แล้วแต่จำนวนข้าราชการที่บรรจุในแต่ละปี ปัจจุบันสมาชิกข้าราชการมีประมาณ 1.1 ล้านคน โดยสมาชิกกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ยังรับราชการอยู่และส่งเงินสะสมเข้ามาให้ กบข. บริหารเงิน  กับกลุ่มที่เกษียณไปแล้วแต่ยังฝากให้ กบข. บริหารต่อ หรือ กลุ่มออมต่อ


เงินออมข้าราชการในปัจจุบัน
               หากพูดถึงภาระหนี้สินของข้าราชการไทย  คงเหมือนบุคคลทั่วไปที่ทำงานเอกชน ที่ในระหว่างทำงานก็จะมีภาระในการซื้อบ้านซื้อรถเป็นเรื่องปกติ แต่ส่วนใหญ่ข้าราชการก็ปลดภาระหนี้สินได้ มีชีวิตหลังเกษียณได้ด้วยเงินบำนาญจากภาครัฐ ส่วน กบข.จะเป็นเงินก้อนหลังเกษียณ   เงินออมของ กบข.จะมีกติกาอยู่ว่า จะรับเงินก้อนออกไปได้ ก็ต่อเมื่อออกจากราชการ ส่วนใหญ่ข้าราชการก็จะอยู่จนเกษียณ เงินที่ข้าราชการส่งสะสมมาทุกเดือน รวมกับที่รัฐส่งสมทบเข้ามาให้ และ กบข. นำไปบริหารเพื่อสร้างผลตอบแทน ก็จะค่อย ๆ สะสมไป สุดท้ายจะเป็นเงินก้อนตอนเกษียณ  และสามารถเลือกได้ว่าจะรับออกไปทั้งก้อน  หรือว่าจะฝากให้ กบข. บริหารต่อ  ซึ่งข้าราชการเองจะมีกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้อง ส่งเงินสะสมทุกเดือนในอัตรา 3% ของเงินเดือนให้ กบข. และรัฐบาลจะสมทบให้อีก 3% ของเงินเดือน และมีเงินชดเชยอีก 2% ของเงินเดือน ซึ่งเงินที่ส่งสะสมเข้ามานั้นสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ แต่ถ้าสมาชิกข้าราชการท่านไหน มองว่าตัวเองออม 3 % น้อยไป  อยากออมมากกว่านั้น ก็สามารถใช้บริการออมเพิ่มได้ การลงทุนของ กบข. จะมีเป้าหมายว่า ต้องชนะเงินเฟ้อ ชนะอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เราทำมากว่า 25 ปีแล้ว  เรายังทำได้ตามเป้าที่วางไว้


วิกฤติและโอกาสของ กบข.
               ถ้าถามว่าวิกฤติของ กบข.คืออะไร ขอแยกเป็น 2 เรื่อง  เรื่องแรกคือ ด้านการลงทุน  คิดว่า กบข. ก็ไม่ต่างจากกองทุนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ เพราะว่าเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นไซเคิล สามารถหมุนเวียนไปตามเหตุการณ์ มีถดถอยบ้างตามไซเคิล  เรียกว่าเป็นความท้าทาย ของกองทุนที่ต้องบริหารจัดการ ให้ได้ เรามีภารกิจว่า เราบริหารเงินให้ราชการ บริหารระยะยาว เพราะฉะนั้น การบริหารเราต้องมองให้ยาวที่สุด เพื่อสร้างผลตอบแทนยั่งยืนระยะยาวให้กับสมาชิก นี่คือความท้าทายในฝั่งลงทุน    ความท้าทายที่สำคัญอีกข้อ คือการทำให้สมาชิกข้าราชการ ใช้ประโยชน์จากกองทุนให้มากที่สุดเพื่อการสะสมเงินออม สร้างความมั่งคั่งให้มากที่สุด ซึ่งเรามีแนวคิดที่ชัดเจนว่า
1.การออมเพิ่ม ท่านควรจะใช้บริการออมเพิ่ม จากเดิมออมอยู่แล้ว 3% ซึ่งยังถือว่าน้อยมาก เราต้องทำยังไงให้ข้าราชการเข้าใจว่าทำไมต้องออมมากกว่า 3%  2. ออมให้เร็ว  ต้องบอกสมาชิกข้าราชการ ถ้าท่านคิดว่าอยากจะออมเพิ่มแล้วไม่ใช่การไปเร่งออมตอนใกล้เกษียณ แต่ค่อยๆออมเพิ่มทีละน้อยๆตั้งแต่ตอนอายุน้อยดีกว่า เพราะการบริหารกองทุนเราบริหารแบบดอกทบต้น และ 3. สำคัญที่สุดคือเมื่อออมแล้ว แม้เป็นสมาชิก กบข. แล้ว แผนลงทุนที่เลือกให้ กบข. บริหารอยากให้เป็นแผนลงทุนที่เหมาะสม เช่นอายุน้อยอยู่ในแผนที่ความเสี่ยงสูง พออายุมากขึ้นก็ลดความเสี่ยงของแผนลงทุนลงไป ซึ่ง กบข. มีแผนลงทุนที่หลากหลายให้สมาชิกได้เลือก แต่ถ้าสมาชิกไม่รู้จะเลือกแผนลงทุนแผนไหน เรามีแผนสมดุลตามอายุ ให้กับสมาชิกได้เลือกลงทุน ตามหลักการ อายุน้อยเสี่ยงมาก อายุมากเสี่ยงน้อย 


กบข. หน่วยลงทุน ผลตอบแทนที่มั่นคง เพื่อสมาชิก
               กบข .มีลักษณะการลงทุนไม่เหมือนนักลงทุนทั่วไป นักลงทุนรายบุคคลจะมองไม่เหมือนกับเรา เราจะเป็นนักลงทุนสถาบัน ความเป็นสถาบันคือการลงทุนระยะยาว เรามองยาวมาก คำว่ายาวมากคือ 20-30 ปี แบบเงินเย็น กระบวนการลงทุนของ กบข. จึงซับซ้อนและลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายมาก มีทีมทำงานประมาณ 50-60 คน  แต่ในส่วนของสมาชิก สิ่งที่สมาชิกควรจะกังวลใจ คือความเสี่ยงหรือการมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ นั้นเป็นความเสี่ยงที่แท้จริง เพราะความเสี่ยงในการลงทุนเป็นเพียงแค่ความผันผวนระยะสั้นเท่านั้น เวลาที่เราลงทุนในกองทุนสิ่งที่เราควรสนใจ คือราคาหน่วยลงทุน  ตอนที่เริ่มต้นเป็นสมาชิกนั้นหน่วยลงทุนมีราคากี่บาท และตอนเกษียณเป็นกี่บาท  อย่ากังวลใจว่า ผลประกอบการ กบข. เป็นอย่างไร อยู่กับ กบข. ราคาหน่วยลงทุนสำคัญที่สุด ต้องมองว่า ราคาหน่วยขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ ถ้าขึ้นต่อเนื่องแสดงว่า กบข. ทำได้ดี ถ้าราคาลดลง แสดงว่า กบข. มีปัญหา และหากในช่วงที่สมาชิกจะเกษียณไม่ใช่จังหวะที่ดี ก็ยังไม่จำเป็นต้องเอาเงินออก สามารถถือหน่วยต่อได้ เพราะฉะนั้นราคาหน่วยลงทุนคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่สมาชิกต้องให้ความสนใจ
 
การเลือกลงทุนในช่วงวิกฤติ
               อย่างวิกฤต Covid-19 เมื่อปีที่แล้ว ช่วงไตรมาส 2 ไตรมาส 3 ยังเป็นช่วงที่ทุกคนสับสนมาก ว่าจะทำยังไงกับการลงทุน อเมริกาก็มีการอัด QE เข้ามา เงินดอลล่าร์ในขณะนั้น  ความรู้สึกเริ่มไม่มั่นคง คนก็เริ่มมองหาสินทรัพย์ ที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ กบข. ไม่เคยลงทุนในตอนนั้น และเราได้เข้าไปลงทุน ซึ่งสร้างผลตอบแทนที่ดีเป็นสิ่งใหม่ที่เรา ทำในช่วงวิกฤต คือ การลงทุนในทองคำ  ตอนนั้นก็มีคนหนีจากดอลล่าร์ไปที่ทองคำ เราไปลงทุนช่วงสั้นๆ แต่จังหวะเราดีมาก เข้าไปในช่วงจังหวะราคาที่ยังไม่ขึ้นแล้วเราออกก่อนที่ราคาจะตก ก็ได้กำไรจากทองคำมาค่อนข้างจะเยอะ แต่ว่าเราไม่ได้ถือทองคำมาเยอะแยะมากมายมาถึงตอนนี้ ช่วงนั้นก็เป็นสิ่งที่เราทำ และมีการมองตลาดมีการปรับพอร์ต  ในช่วงวิกฤติของการลงทุนมี 2 ทางเลือกให้เราเลือกได้ ทางเลือกที่ 1  เลือกแนวทางลงทุนที่มั่นคงเพื่อให้ผลตอบแทนไม่ผันผวน สมาชิกจะได้สบายใจนี่เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ กับอีกทางหนึ่งคือแทนที่จะมองหาความมั่นคง กลับมองหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทน  เพราะในช่วงที่ทุกคนตกใจ มีความกังวลใจ มีการเทขายบางสินทรัพย์ แต่หากเราเข้าถูกจังหวะก็จะเป็นการสร้างผลตอบแทนได้เช่นกัน
 
แนวทางการบริหารกองทุนของ กบข.
               กบข. เรามอง 2 อย่าง  มองว่าเราเป็นนักลงทุนสถาบัน คำว่าสถาบันคือการลงทุนระยะยาว  พอเป็นอย่างนั้นเรามี 2 บทบาท ได้ในเวลาเดียวกัน  เราไม่ทิ้งบทบาทใดบทบาทหนึ่ง  บทบาทแรก คือการสร้างผลตอบแทนการลงทุน  เราต้องสร้างให้เงินของสมาชิกงอกเงย ชนะเงินเฟ้อชนะเงินฝาก  สุดท้ายตอนเกษียณ  เงินก้อนที่ได้จาก กบข. จะต้องเพียงพอที่จะไปใช้หลังเกษียณได้  แต่อีกบทบาทหนึ่งที่ กบข. สามารถทำได้เช่นกัน คือการสร้าง Social Return  เราทำ 2 อย่างควบคู่กันไป หน่วยงานที่เราไปลงทุนคือสะท้อนสิ่งที่เราคิดว่าเป็นการทำธุรกิจที่ดี  เลยประกาศภารกิจ กบข. ด้านลงทุนว่า เราจะเป็นผู้นำด้านการลงทุนที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน  เราจะเป็นผู้นำนวัตกรรมใหม่ ๆในการลงทุนอย่างยั่งยืนให้กับประเทศ
 

บทบาทสำคัญของ กบข. ในงาน Sustainable Thailand 2021
             ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)  มองว่า กบข. ในฐานะนักลงทุนสถาบันที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ลงทุนทั่วโลก ดำเนินการลงทุนอย่างรับผิดชอบตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติการ ซึ่งในระดับนโยบาย ได้กำหนดนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการบริหารกองทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ให้สอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code: I Code) และเป็นไปตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานอื่นๆ ที่กำหนดในประเทศไทย 
             ที่ผ่านมา กบข. สนับสนุนให้นักลงทุนสถาบันในประเทศไทยรับรองมาตรฐานสากลในลักษณะเดียวกัน รวมถึงความตกลงอื่นๆ ที่จัดทำภายในประเทศ ความสำเร็จแรก คือ ความร่วมมือในการจัดทำแนวปฏิบัติ ‘การระงับลงทุน’ (Negative List Guideline) รวมถึงการเป็นหนึ่งในสถาบันที่ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network: TRBN) และลงนามปฏิญญาในพิธีเปิดโครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ  ในระดับปฏิบัติการ กบข. ได้นำหลักการลงทุนอย่างรับผิดชอบมาพัฒนาและปรับใช้ในกระบวนการลงทุน ครบทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เริ่มจากวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนโดยพัฒนา GPF-ESG Weight and Score ร่วมกับ OECD และธนาคารโลก ซึ่งวิธีการคำนวณได้บูรณาการข้อมูลจาก MSCI ESG Database ซึ่งเป็นมุมมองระดับมหภาค และพัฒนาให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมการลงทุนของไทย 
    นอกจากนั้น กบข. ยังมีบทบาทในฐานะเจ้าของกิจการที่จะต้องติดตามการดำเนินงานของบริษัทที่ลงทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจสอดคล้องกับกรอบของ ESG โดยในปีนี้และปีหน้า กบข. จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องสิทธิมนุษยชนในการลงทุน โดยทำงานร่วมกับ UNEP FI และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำ Human Rights Heatmap และกรอบการทำงานร่วมกัน เพื่อบูรณาการปัจจัยด้านสิทธิมนุษยชนและการตรวจสอบรอบด้าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงนามในครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างที่ทำให้ทุกภาคส่วนได้แรงบันดาลใจ และบูรณาการหลัก ESG เข้ากับการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนไปด้วยกัน