SPCG โชว์กำไรต่อเนื่องกว่า 1,483.6 ล้านบาท พร้อมปันผล 0.25 บาทต่อหุ้น

SPCG จ่ายปันผลระหว่างกาล 0.25 บาท พร้อมโชว์กำไรสุทธิต่อเนื่องงวดครึ่งปีแรก 64 กว่า 1,483.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นไตรมาส 2 ราว 701.3 ล้านบาท ไตรมาสนี้ นครพนม 1 หมดค่าแอดเดอร์ และธุรกิจโซลาร์รูฟได้รับผลกระทบจากโควิด 19 กำไรยังลดไม่มาก เนื่องจากซีอีโอบริหารจัดการลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เผยมีแผนออกหุ้นกู้ 2,500 ล้านบาท เตรียมเงินลงทุนใน 3-5 ปี เร่งเติมเงินลงทุน 2 โครงการใหญ่ในญี่ปุ่น มั่นใจอนาคตสร้างผลตอบแทนที่ดีกลับคืนมา

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชนหรือ“SPCG” เปิดเผยผลประกอบการงวด 6 เดือนหรือครึ่งปีแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัท มีกำไรสุทธิกว่า1,483.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรอยู่ที่ 1,584.3  ล้านบาท และรายได้รวมกว่า2,360.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10 จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 2,629.2 ล้านบาท โดยไตรมาส 2 ปีนี้กำไรสุทธิกว่า 701.3 ล้านบาท นอกจากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากงวดผลดำเนินงานงวดวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2564 และกำไรสะสม ในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท จำนวน 1,055,790,000 หุ้น รวมเป็นจำนวนเงิน 263,947,500.00 (สองร้อยหกสิบสามล้านเก้าแสนสี่หมื่นเจ็ดพันห้าร้อยบาทโดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 10 กันยายน 2564



สำหรับในไตรมาส 2 นี้ โซลาร์ฟาร์มที่ นครพนม 1 ค่าแอดเดอร์หรือรายได้เงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าที่หน่วยละ 8 บาท ได้สิ้นสุดลง ซึ่งถ้ารวมตั้งแต่ปี 2563 บริษัทมี 3 โซลาร์ฟาร์ม ที่ค่าแอดเดอร์หมดไปจากทั้งหมด 36 แห่งได้แก่ โครงการที่ โคราช 1 (20 เมษายน 2563), สกลนคร 1 (8 กุมภาพันธ์ 2564) และ นครพนม 1 (19 เมษายน 2564) อย่างไรก็ตามแม้ค่าแอดเดอร์หมดไปบริษัทยังคงได้รับเงินจากการขายไฟตามปกติ สาเหตุที่บริษัทมีกำไรลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (Covid-19) ที่ส่งผลกระทบทั่วโลกทำให้แผนงานหลายโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะบริษัทย่อย โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ (SPR) ที่ให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา เนื่องจากลูกค้าโรงงานหลายแห่งชะลอการติดตั้งจากกรณีล็อกดาวน์ และลูกค้าโรงงานที่เป็นชาวญี่ปุ่นต่างต้องเดินทางกลับประเทศเพื่อรับวัคซีน
โดยบริษัทคาดว่ารายได้จาก SPR ในปีนี้จะไม่เป็นไปเป้าหมายที่ตั้งประมาณการณ์ไว้เช่นเดียวกับ บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET ENERGY) ที่ดำเนินงานโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เมืองใหม่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฯ หรือ อีอีซี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ทำให้บริษัทต้องชะลอแผนการดำเนินงานโครงการออกไป ส่งผลให้การรับรู้รายได้จากเดิมที่คาดว่าจะทำได้ปีนี้ อาจต้องเลื่อนออกไปราวไตรมาส 1-2 ปี 2565

อย่างไรก็ตามแม้บริษัทจะได้รับผลกระทบดังกล่าว แต่บริษัทก็ยังคงสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องและสามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้เช่นเดิม แม้บริษัทต้องรักษากระแสเงินสดไว้เป็นสภาพคล่องในการดำเนินงานและลงทุนต่อไปในอนาคต


ดร.วันดี กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้บริษัททำกำไรได้ต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการเดินหน้านโยบายปรับลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต้นทุนด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ต้นทุน O&M (Operating & Maintenance) สำหรับธุรกิจโซลาร์ฟาร์มทั้งในปัจจุบันและอนาคต ลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญ และบริษัทมั่นใจหากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ผ่อนคลายลง จะทำให้วิกฤติเศรษฐกิจโลกกลับคืนสู่ปกติ SPCG จะมีผลตอบแทนที่ดีขึ้นในอนาคต เพราะได้เตรียมแผนลงทุนเพิ่มในช่วงเวลา 3-5 ปีนี้

ดังนั้นบริษัทจึงมีแผนออกหุ้นกู้จำนวน 2,500 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุน 1. โครงการโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น 2 แห่ง ได้แก่โครงการ “Ukujima Mega Solar Project” ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 480 เมกะวัตต์ งบการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ54,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 17.92% คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 2,700 ล้านบาท 2. โครงการ “Fukuoka Miyako Mega Solar” ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 67 เมกะวัตต์ งบการลงทุนประมาณ 23,493 ล้านเยน โดย SPCG ถือหุ้นในโครงการนี้ราว 10% คิดเป็นเงินลงทุนราว 94 ล้านบาท และ 3. เงินลงทุนในบริษัท MSEK ที่ทำธุรกิจลิสซิ่งให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ในไทย 4. ใส่เงินลงทุนในบริษัท SET ENERGY นอกจากนั้นเป็นเงินลงทุนต่อไปในอนาคต

สำหรับ 2 โครงการใหญ่ที่ญี่ปุ่น ขณะนี้เริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้น สำหรับโครงการ Ukujima Mega Solar Projectบริษัทจะชำระเงินงวดที่เหลือภายในไตรมาส 1 ปี 2565 ส่วนโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ Fukuoka Miyako Mega Solar   เกาะคิวชู (Kyushu) เมืองมิยาโกะ ประเทศญี่ปุ่น บริษัทมีแผนที่จะเข้าไปร่วมทุนภายในไตรมาส 3 ปี 2564

“SPCG มั่นใจว่า โซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่นทุกโครงการที่บริษัทลงทุน จะสร้างผลตอบแทนที่ดีกลับคืนมาให้บริษัทได้ในอนาคต” ดร.วันดีกล่าว

โครงการ Ukujima Mega Solar Project มีผู้ร่วมลงทุนได้แก่ Kyocera Corporation, Kyudenko Corporation, Tokyo Century Corporation, Furukawa Electric Company Limited, Tsuboi Corporation และผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ งบการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 54,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 17.92% คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 2,700 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ชำระทุนไปแล้วจำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 และวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 
เป็นจำนวนเงิน 686 ล้านบาท และ 582 ล้านบาท ตามลำดับ และมีแผนจะชำระทุนงวดที่เหลือ จำนวนประมาณ 1,390 ล้านบาท โดยทยอยแบ่งจ่าย ภายในปี 2564 และงวดสุดท้ายราวไตรมาสแรกปี 2565 ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในปี 2566 เป็นต้นไป

ด้าน โครงการ Fukuoka Miyako Mega Solar ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 67 เมกะวัตต์ งบการลงทุนประมาณ23,493 ล้านเยน มีผู้ร่วมทุนได้แก่ TESS Holdings ถือหุ้น 10%, Mitsubishi HC Capital (MUL) 50%, Sumitomo Mitsui Finance & Leasing (SMFL) 30% และ SPCG 10% ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนไทยราว 94 ล้านบาท

ส่วนบริษัท MSEK Power Co., Ltd. (MSEK) เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง Mitsubishi HC Capital Inc. (MHC) 49%, Bangkok Mitsubishi HC Capital Co., Ltd. (BMHC) 11%, SPCG 25% และ PEA ENCOM 15% ซึ่ง SPCG จะใส่เงินลงทุนราว 194 ล้านบาท สำหรับบริษัท SET ENERGY ปัจจุบัน SPCG ถือหุ้น 80% และ PEA  ENCOM ถือ 20% ซึ่งบริษัทต้องใส่เงินลงทุนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามเงินลงทุนต่าง  ตามแผนงานที่บริษัทวางไว้ นอกเหนือการออกหุ้นกู้แล้วส่วนหนึ่งมาจากเงินทุนของบริษัทที่ได้วางแผนบริหารกระแสเงินสดรักษาสภาพคล่องไว้แล้ว

นอกจากนี้บริษัทยังคงมองหาการลงทุนโครงการใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัท โดยจะเน้นไปที่พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก โดยได้ตั้งเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2568) จะมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์ และภายในปี 2580 ไม่ต่ำกว่า 3,000 เมกะวัตต์ โดยในปี 2564 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตราว 10% หรือประมาณ 5,500 ล้านบาท

สำหรับบริษัท SPCG ในฐานะผู้บุกเบิกและผู้นำธุรกิจด้านพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ บริษัทยังคงมุ่งมั่นรักษาสิ่งแวดล้อม และเดินหน้าช่วยลดสภาวะโลกร้อนเทียบเท่ากับการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศของโลกประมาณ 200,000 ตัน CO2 ต่อปี จากการดำเนินงานโครงการโซลาร์ฟาร์ม 36 โครงการ รวมกำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์