ไทยออยล์ ประกาศรุกธุรกิจโอเลฟินส์ ประเทศอินโดนีเซีย

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชนประกาศเข้าร่วมลงทุน ในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (“CAP”) ประเทศอินโดนีเซีย ผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ PT TOP Investment Indonesia โดยเข้าถือหุ้นCAP ที่สัดส่วนร้อยละ 15.38 ใช้เงินลงทุนมูลค่ารวมไม่เกิน 1,183 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 39,100 ล้านบาท เพื่อก้าวเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินส์ โดย CAP มีแผนขยายกำลังการผลิตและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 เพื่อรองรับปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ที่สูงขึ้นของประเทศ 

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า “การเข้าลงทุนครั้งนี้ของไทยออยล์ก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน ทั้งการได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท CAP และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด  ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ CAP ถือเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญระหว่างผู้ประกอบการในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต การร่วมลงทุนใน CAP ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำทำไทยออยล์สามารถก้าวเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินส์ได้อย่างรวดเร็วและทำให้โครงสร้างธุรกิจมีความสมบูรณ์ ครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีสร้างโอกาสการเติบโตในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสูงมาก นอกจากนี้ การลงทุนนี้ยังเป็นการการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่าง ไทยออยล์ กับ CAP โดยไทยออยล์ได้เข้าทำสัญญาเพื่อส่งผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบให้กับ CAP นอกจากนี้ ยังได้เข้าทำสัญญาเพื่อจำหน่ายพอลิเมอร์เรซิน (Polymer Resin) และผลิตภัณฑ์ในรูปของเหลวอื่นๆ ของ CAP อีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการและการดำเนินการต่างๆ ในการเข้าร่วมลงทุนใน CAP จะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564”


การลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk ผู้ผลิตสารโอเลฟินส์รายใหญ่ที่ประเทศอินโดนีเซีย การเข้าลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์จะทำให้ไทยออยล์มีโครงสร้างธุรกิจที่ครบวงจรด้วยการบูรณาการทั้งธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์และโอเลฟินส์ ในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของไทยออยล์ในการเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ จากเดิมที่มีธุรกิจสายอะโรเมติกส์อยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้โครงสร้างธุรกิจของไทยออยล์มีความสมบูรณ์ครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร โดยสายโอเลฟินส์มีข้อได้เปรียบที่สามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ขั้นปลายต่างๆ ที่หลากหลายกว่าสายอะโรเมติกส์ ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ในปริมาณสูงมีแนวโน้มเติบโตดีในอนาคต และยังต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ โดย CAP เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำรายใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย อีกทั้งยังเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงงานแยกแนฟทา (Naphtha Cracker) เพียงแห่งเดียวของประเทศ มีกำลังการผลิตเอทิลีน (ethylene) ประมาณ 900,000 เมตริกตันต่อปี และพอลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) ที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตสไตรีนโมโนเมอร์ (SM) และบิวทาไดอีน (BD) และจะดำเนินการขยายกำลังการผลิตและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกเท่าตัว  

สำหรับแผนจัดหาเงินทุนครั้งนี้มาจากการขายหุ้น GPSC 10.8คิดเป็นเงิน 20,000 ล้านบาท โดยปตท.สนับสนุนเงินเพื่อกู้ยืมเงินระยะสั้น (Bridging Loan) บางส่วนกู้จากสถาบันการเงิน และการเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยการออกหุ้นเพิ่มทุน หรือใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้(Transferable Subscription Rights) โดยการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) การเสนอขายให้กับนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) และ/หรือ การเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering) 


PT Chandra Asri Petrochemical Tbk ("CAP") เป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านปิโตรเคมีชั้นนำรายใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 29 ปี มียอดขายรวมในปี 2563 มากกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ CAP เป็นผู้ดำเนินกิจการโรงงานแยกแนฟทา (Naphtha Cracker) เพียงแห่งเดียวของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งผลิตภัณฑ์ครอบคลุมตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ อาทิ โพลิเอททิลีน (PE) โพลิโพรไพลีน (PP) สไตรีนโมโนเมอร์ (SM) และบิวทาไดอีน (BD) และผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์อีกหลายชนิด โดยมีโรงงานตั้งอยู่ที่ เมือง Cilegon ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมชายฝั่งที่สำคัญในจังหวัด Banten ทางด้านตะวันตกของเกาะชวา ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 3 ลำดับแรก ประกอบด้วย PT Barito Pacific Tbk ถือหุ้นที่สัดส่วนร้อยละ 41.88 บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ถือหุ้นที่สัดส่วนร้อยละ 30.57 และ Prajogo Pangestu ถือหุ้น ที่สัดส่วนร้อยละ13.33

ทั้งนี้ ไทยออย์ยังคงสัดส่วนรายได้จากการทำธุรกิจดังนี้  ธุรกิจโรงกลั่นปิโตรเลียม 40% ,ธุรกิจปิโตรเคมี 40% ,ธุรกิจโรงไฟฟ้า 10% ,และธุรกิจใหม่ New Business 10%