ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย โชว์กำไรครึ่งปีแรก 954.8 ล้านบาท

นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชนเปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 7,284.1 ล้านบาทลดลง 644.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.1 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2563 สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 11.7 และรายได้อื่นร้อยละ 2.3 สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิร้อยละ 8.9  กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 3,150.8 ล้านบาท ลดลงจำนวน  64.3 ล้านบาทหรือร้อยละ 2.0 เนื่องจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน สุทธิกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 12.3   กำไรสุทธิจำนวน 954.8 ล้านบาท ลดลงจำนวน 431.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.1 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันสาเหตุหลักเกิดจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 เป็นผลจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและโอกาสที่คุณภาพสินเชื่อของลูกค้าที่จะแย่ลงจากผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด19

เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวดหกเดือนปี 2564 และ 2563 รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 61.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.9 ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการเป็นนายหน้าขายประกันและค่าธรรมเนียมจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้  ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 672.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.7 เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้ออันเนื่องมาจากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อลดลงและรายได้อื่นลดลง 33.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.3 ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดหกเดือนปี 2564 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2563 ลดลงจำนวน 579.9 ล้านบาทหรือร้อยละ 12.3 สาเหตุหลักมาจากการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นและการลดลงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน    อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดหกเดือนปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 56.7 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 59.5  

อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดหกเดือนปี 2564     อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้อ

วันที่ 30 มิถุนายน 2564 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 217.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ  วันที่ 31 ธันวาคม 2563   กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภทจำนวน 242.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.4 จากสิ้นปี 2563 ซึ่งมีจำนวน 251.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็นร้อยละ 89.6 จากร้อยละ 90.3   วันที่ 31 ธันวาคม 2563

สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 10.6 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ4.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ  วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 4.6  สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของยอดสินเชื่อโดยรวมในขณะที่ยอดสินเชื่อด้อยคุณภาพเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก อย่างไรก็ตามธนาคารยังมีมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อและนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลลูกหนี้และการติดตามหนี้

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ  วันที่ 30 มิถุนายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 101.4  เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 93.3   วันที่ 31 ธันวาคม 2563   ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 9.9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.8 พันล้านบาท

 เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร  สิ้นวันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีจำนวน 53.4 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 20.6 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 15.0