หลักทรัพย์บัวหลวง แนะเพิ่มน้ำหนักการลงทุน สินทรัพย์เสี่ยง รับดัชนีขาขึ้น หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวทั่วโลก



หลักทรัพย์บัวหลวง ชี้ดัชนีมีแนวโน้มเป็น “ขาขึ้น” ในปี 2564 หลังเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวอย่าง    พร้อมเพียง หากวัคซีนต้านโควิด -19 เข้าถึงประชาชนอย่างแพร่หลาย ขณะที่ฟันด์โฟลว์อาจไหลกลับหุ้นไทยเกือบ 2 แสนล้านบาท แนะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน “ตลาดหุ้น” เป็น 70% แบ่งเป็น “หุ้นไทย” 30%   และ “หุ้นต่างประเทศ” 40% ชูหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์เด่นสุด  


นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นที่กำลังพัฒนาไปสู่ขาขึ้นในปี 2564ทำให้เรายังคงมีมุมมองที่ดีต่อการลงทุน   “สินทรัพย์เสี่ยง” โดยได้ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน “ตลาดหุ้น” จาก 60% เป็น 70% แบ่งเป็นหุ้นไทย 30%        และหุ้นต่างประเทศ 40% เน้นหุ้นจีนและหุ้นสหรัฐฯ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากที่เป็น     New Economy และภายใน 10 ปีข้างหน้ายังคงมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน แนะปรับลดน้ำหนักการลงทุน “ตราสารหนี้” จาก 15% เหลือประมาณ 5% และคงน้ำหนักการลงทุนใน “กองทุนอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์” ประมาณ 10% และ “ทองคำ” ประมาณ 15% 

สำหรับปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้น คือ 1.การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนและสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวอย่างพร้อมเพียงในปีนี้ หลังเศรษฐกิจหดตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ในปีที่ผ่านมา   2.กำไรบริษัทจดทะเบียน ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว หากวัคซีนต้านโควิด-19 เข้าถึงประชาชนอย่างแพร่หลายอาจเห็น    ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนความเชื่อมั่นว่า กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะกลับไปสู่กำไรก่อนโควิด-19 ระบาด 

4.เริ่มเห็นสัญญาณการโยกเม็ดเงินลงทุน จาก “สินทรัพย์เสี่ยงต่ำ” เข้าสู่ตลาดหุ้น และน้ำมัน ผ่านการขายพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ซึ่งเป็นตัวแทนอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไม่ได้ปรับตัวขึ้น สะท้อนความคาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะไม่รีบร้อนในการปรับอัตราดอกเบี้ยในระบบขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัว เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น การถือครองเงินสด ฝากเงินในธนาคาร หรือลงทุนในพันธบัตรจึงไม่ตอบโจทย์ในเวลานี้  

ปัจจัยสนับสนุนข้อสุดท้าย คือ เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) มีแนวโน้มไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย   หลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559- 2563) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิประมาณ 6.2 แสนล้านบาท โดยในปี 2559 ซื้อสุทธิ 77,927 ล้านบาท ปี 2560 ขายสุทธิ 25,755 ล้านบาท ปี 2561 ขายสุทธิ 287,458 ล้านบาท ปี 2562   ขายสุทธิ 45,244 ล้านบาท และปี 2563 ขายสุทธิ 264,385 ล้านบาท ดังนั้นมีโอกาสที่จะเห็นเม็ดเงินไหลกลับเข้าตลาดหุ้นประมาณ          1.5 - 2 แสนล้านบาท ในปี 2564 หากเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวตามคาด ประกอบกับตลาดหุ้นไทยและเศรษฐกิจไทยเน้นไปทางด้านการผลิตอุตสาหกรรม ส่งออก และท่องเที่ยว

"เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะหนุนให้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นทะลุเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้   ปัจจุบันหลักทรัพย์บัวหลวง มองเป้าหมายดัชนีปี 2564 ที่ระดับ 1,550 จุด คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 86 บาท และหาก     ภาคการท่องเที่ยวกลับมา และส่งออกฟื้นตัว ก็อาจปรับประมาณการดัชนีขึ้นได้อีก อีกทั้งในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเริ่ม     ไต่ระดับขึ้นมายืนแถว 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำไรกลุ่มปตท." นายชัยพร กล่าว

นายชัยพร กล่าวต่อว่า ปัจจัยระยะสั้นที่นักลงทุนยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ 1.ปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งในส่วนของการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ และการปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลในสหรัฐฯ เรามองว่าจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และน่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นเอเชีย และ 2.ปัจจัยภายในประเทศเช่น เรื่องรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ว่าจะส่งผลดีต่อตลาดมากน้อยขนาดไหน    ไม่ว่าจะเป็น โครงการคนละครึ่ง, มาตรการแจกเงิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นเวลา 2 เดือน, การลดอัตราอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ 0.01% เป็นต้น อย่างไรก็ดีสำหรับปัจจัย        ระยะยาวยังคงต้องติดตามเรื่องความเสถียรภาพทางการเมือง และการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ 

สำหรับกลุ่มแนะนำลงทุน คือ 1.กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ โดยจะได้รับแรงหนุนมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว   และกำลังซื้อกลับมา 2.กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ กลุ่มคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์และกลุ่มพาณิชย์   3.กลุ่มท่องเที่ยว คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และ 4.กลุ่มโรงพยาบาล ส่วนกลุ่มหลีกเลี่ยง   คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เพราะราคาแพงเกินไป ฉะนั้นต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน เช่นเดียวกับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่น่าสนใจในเวลานี้ อย่างไรก็ดีสำหรับมุมมองการลงทุนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นักลงทุนสามารถลงทุนได้      โดยคาดว่าอัตราผลตอบแทนน่าจะใกล้เคียงดัชนี ภายหลังการตั้งสำรองฯน้อยลงในปีนี้

"ดัชนีอาจผันผวนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 เพราะเข้าใกล้เป้าหมายของปีนี้แล้ว ฉะนั้นอาจเห็นแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่บนความเชื่อมั่นที่ว่า ภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัว เราจะเห็นตลาดหุ้นมีแรงซื้อกลับ เบื้องต้นมองแนวรับระดับ 1,480 จุด" นายชัยพร กล่าว