ของดี SME

“Chaobaan Organic” เกษตรกรคิดใหม่ อาชีพชาวนาก็รวยได้


อาชีพทำนาของชาวนาไทย ส่วนใหญ่จะต้องคลุกวนเวียนอยู่กับความยากจน  หนี้สินพอกพูน และสุขภาพย่ำแย่ เพราะต้องใกล้ชิดกับสารเคมีตลอดเวลา   นี่เป็นสิ่งที่อยู่ในใจของ “ฐิติภัทร์ สุขเกษม” มาตลอด เนื่องจากเกิดและเติบโตในครอบครัวที่ประกอบอาชีพทำนามายาวนาน  ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์


ตั้งแต่จำความได้ เห็นคุณพ่อทำนา ทั้งหนักและเหนื่อย แต่ครอบครัวก็ยังไม่รวยเสียที ฐานะยังอยู่แบบพอมีพอกินเท่านั้น  เพราะต้องพบเจอปัญหาข้าวราคาตกต่ำ  แถมเป็นหนี้เป็นสินนอกระบบเรื่อยมา  ดังนั้น จึงมีความคิดว่า หากต้องสานอาชีพชาวนาต่อจากคุณพ่อแล้วฐานะยังเหมือนเดิม ขอหยุดความคิดในอาชีพชาวนาไว้ก่อน แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นตอนเรียนใกล้เรียนจบมหาวิทยาลัย  เวลานั้น รัฐบาลกำลังมีโครงการรับจำนำข้าว  ตันละ 15,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่จูงใจมาก  


“ตอนนั้น เหมือนรัฐบาลจัดโปรโมชั่นให้คนทำนา เพราะราคาสูงกว่าตลาดมาก ทำแล้วมีกำไรแน่ ผมเลยเริ่มหันมาสนใจหาความรู้การทำนาทฤษฏีใหม่ เพื่อจะหาทางลดต้นทุน  ช่วยให้การทำนาที่บ้าน เมื่อหักต้นทุนแล้วจะได้เงินมากขึ้น” ฐิติภัทร์ เล่าถึงบันไดขั้นแรกที่เข้าสู่อาชีพเกษตรกร


จากไม่เคยสนใจอาชีพทำนามาก่อนเลย  เริ่มเข้ามาช่วยงานครอบครัว  ด้วยเหตุผลสำคัญ อยากจะแบ่งเบาภาระคุณพ่อคุณแม่ ไม่ต้องทำงานหนักและเหนื่อยหนักอีกต่อไป  ด้วยวัย 23 ปี เขาตัดสินใจยึดอาชีพเกษตรกรปลูกข้าวจริงจัง  โดยหลังจากหมดโครงการรับจำนำข้าว   ต้องหาหนทางที่จะไม่ต้องประสบปัญหาเดิมๆ เบื้องต้น เขาอาศัยที่นาของครอบครัว จำนวน 15 ไร่  ทดลองปลูก “ข้าวไรซ์เบอรี่” เพราะเห็นโอกาสจากที่คนไทยหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น  ซึ่งเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ข้าวไรซ์เบอรี่กำลังเริ่มได้รับความนิยมจากคนไทยใหม่ๆ   


ฐิติภัทร์ เล่าว่า เนื่องจากเวลานั้น ยังเป็นมือใหม่ในวงการ  ช่วงแรกจึงเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรค  โดยเฉพาะเมื่อต้องไปว่าจ้างโรงสี ทำการสีข้าว จึงมีต้นทุนการผลิตสูง และไม่สามารถควบคุมคุณภาพข้าวได้ตามต้องการอย่างเต็มที่  รวมถึง เวลานั้นยังไม่มีตลาดรองรับแน่นอน   ช่วงแรกจึงเปรียบเสมือนการลองผิดลองถูกและเรียนรู้ข้อเท็จจริงว่า การจะทำอาชีพเกษตรให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย 


ประเด็นสำคัญที่เกษตรกรหนุ่มเล็งเห็น คือ หากจะทำนาแบบเดิมๆ คือ ปลูกข้าวเองแล้วไปว่าจ้างโรงสีให้สีข้าวตามต้องการเพื่อจะส่งขายต่อให้บริษัทค้าข้าวรายใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว  วิธีนี้ยากที่ประสบความสำเร็จได้ เพราะมีต้นทุนสูง  และมักถูกกดราคา  ดังนั้น เปลี่ยนความคิดและวิธีปฏิบัติ  โดยมุ่งหาตลาดที่ต้องการสินค้า “ข้าวอินทรีย์” คุณภาพสูง  ควบคู่กับสร้างเครือข่ายเกษตรกรให้ปลูกข้าวคุณภาพตามตลาดต้องการ   ซึ่งวิธีนี้ ช่วยให้ขายสินค้าได้มูลค่าสูงขึ้น   


หนุ่มวัย 29 ปี ขยายความว่า   เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ได้ไปส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ เช่น นครสวรรค์ พิจิตร ชัยนาท และอุทัยธานี เป็นต้น ปลูก “ข้าวอินทรีย์ 100%”  หลังจากนั้น จะรับซื้อผลผลิตที่ได้ทั้งหมด เพื่อนำไปขายให้แก่ลูกค้าที่ต้องการสินค้าข้าวอินทรีย์เกรดพรีเมียม  ภายใต้เงื่อนไขที่มีการทำสัญญากับเครือข่ายอย่างชัดเจนว่า  ผลผลิตต้องได้คุณภาพตามกำหนด  


วิธีการดังกล่าว หัวใจสำคัญ ต้องสามารถซื้อใจเกษตรกรที่จะมาร่วมเป็นเครือข่ายให้จงได้  ดังนั้น เมื่อกลุ่มผู้ปลูกเข้ามาเป็นเครือข่ายแล้ว จะได้รับการสนับสนุนให้ประกอบอาชีพทำนาอย่างมีสุข และมีรายได้อย่างเป็นธรรม  โดยจะได้รับการสนับสนุนครบวงจร ตั้งแต่จัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ยอินทรีย์ให้ทั้งหมด  และที่สำคัญ ประกันราคารับซื้อสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป  โดยเมื่อเกษตรกรนำข้าวที่ปลูกมาส่งให้แล้ว จะจ่ายเป็นเงินสดทันที  


“ผมเป็นลูกชาวนา ทำให้รู้ปัญหาและความต้องการของคนทำนาได้ดีว่า  จริงๆ ชาวนาไม่อยากจะปลูกข้าวโดยใช้สารเคมีเลย แต่ที่ผ่านมา จำเป็นต้องทำ เพื่อจะได้ผลผลิตปริมาณมากๆ ในเวลารวดเร็ว เพื่อจะรีบขายข้าวให้ได้เงินไปใช้หนี้และมาลงทุนซื้อเมล็ดข้าวปลูกในรอบต่อไป  แต่ที่ผ่านมา ยิ่งทำก็ยิ่งติดลบ  ผมมองเห็นช่องทางที่จะช่วยกลุ่มเครือข่ายได้ จึงทำหน้าที่เป็นผู้หาตลาดให้ โดยกลุ่มเครือข่ายมีหน้าที่ปลูกให้ได้ข้าวคุณภาพดีตามสเปคที่ตกลงกัน”   


ปัจจุบัน จากอาชีพชาวนาธรรมดา เปลี่ยนเป็นดำเนินธุรกิจเต็มรูปแบบ โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล บริษัท ชาวบ้าน ออแกนิค จำกัด (Chaobaan Organic) มีเครือข่ายสมาชิกเกษตรกรเกือบ 10 กลุ่ม ปริมาณรับซื้อข้าวเปลืองจากสมาชิกปีละกว่า 2,500 ตัน ทั้งนี้ ด้วยกระบวนการที่ต้องจ่ายเงินสดทันทีเมื่อเครือข่ายนำผลผลิตมาส่งให้  ฐิติภัทร์ยอมรับว่า จำเป็นต้องมีสภาพคล่องเตรียมสำรองไว้สูงมาก  ซึ่งจุดนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยกระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank  ช่วยเติมทุนหมุนเวียนด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ ในโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ  


“ธุรกิจของผมเปรียบเสมือนรถธรรมดา  แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนประชารัฐ โดย  SME D Bank ก็เหมือนรถติดเทอร์โบ  เติบโตอย่างรวดเร็ว  เพราะการมีแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และทำให้เรากล้าตัดสินใจในการลงทุนขยายธุรกิจ จากยอดขายเริ่มต้นในปี 2559 จำนวน 3,100,000 บาท บาท จนถึงปี 2561 มียอดขาย 36,000,000 บาท ”    นอกจากนั้น  ได้ขอสนับสนุนเงินทุนจาก SME D Bank เพิ่มเติม  เพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจ  ตั้งแต่สร้างโรงสีข้าวพร้อมลงทุนเครื่องจักรของตัวเอง มูลค่า 7,000,000 บาท เพื่อจะควบคุมคุณภาพสินค้าได้ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ลดต้นทุนการผลิตไม่ต้องไปว่าจ้างโรงสีข้าวภายนอกอีกต่อไป  นอกจากนั้น กำลังทำการวิจัยและพัฒนานำผลผลิตและวัตถุดิบเหลือจากการผลิตมาทำเป็นสินค้าต่างๆ ภายใต้แบรนด์   Chaobaan Organic  ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นข้าวไรซ์เบอรี่เกรดพรีเมียมบรรจุถุง  น้ำมันจมูกข้าวไรซ์เบอรี่สกัดเย็น และแป้งข้าวไรซ์เบอรี่ เป็นต้น 

ด้วยวัยเพียง 29 ปี   ฐิติภัทร์ ก้าวเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจข้าวออแกนิกครบวงจรในพื้นที่ จ.นครสวรรค์  พร้อมกับมีฝันว่า ในระยะเวลา 3-5 ปีจากนั้น  จะขยายความคิดและกระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ ไปสู่ผลผลิตการเกษตรชนิดอื่นๆ ต่อไป  ซึ่งจะก่อประโยชน์ดีแก่ทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้บริโภคได้รับประทานสินค้าเกษตรคุณภาพดีปลอดภัยต่อสุขภาพ   สภาพแวดล้อมกลับมาอุดมสมบูรณ์ และที่สำคัญ  เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่  สุขภาพ และฐานะการเงินดีขึ้น  โดยไม่ต้องจมอยู่กับความยากจนและหนี้สินอีกต่อไป