TFMAMA เทรนด์ "OK-บิ๊กแพ็ค" โตแรง เบรกแผนลงทุนฮังการี-จับตาสถานการณ์กัมพูชา

ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ เทรนด์ "OK-บิ๊กแพ็ค" โตแรง ปี 68 คาดหนุนรายได้เติบโต 30% สั่งเบรกแผนลงทุนฮังการี-จับตาสถานการณ์กัมพูชา


นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านกำลังการผลิตที่ไม่ทันต่อยอดขายที่เติบโตขึ้นทุกปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการไม่สามารถขยายโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรใหม่ได้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


"ยอดขายเราโตทุกปี แต่ช่วงโควิดขยายเครื่องจักรไม่ได้เพราะต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น ทำให้การขยายกำลังการผลิตไม่ทันยอดขายที่โตขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราผลิตเต็มศักยภาพแล้วที่ประมาณ 7 ล้านซองต่อวัน" นายพันธ์กล่าว


การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลุ่มพรีเมียม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม "OK (Oriental Kitchen)" และกลุ่ม "บิ๊กแพ็ค" หรือซองขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง โดย “ปีที่แล้วเฉพาะพอร์ตของ OK เติบโตถึง 30% ทำให้เครื่องจักรที่เราเพิ่งติดตั้งใหม่ที่ระยองและเริ่มเดินเครื่องเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็เพื่อรองรับการผลิตกลุ่มนี้โดยเฉพาะ แต่ก็ยังถือว่าตึงตัว"


อย่างไรก็ตาม นายพันธ์ให้ความมั่นใจว่า แม้กำลังการผลิตโดยรวมจะอยู่ในภาวะตึงตัว แต่บริษัทได้จัดลำดับความสำคัญและยืนยันว่าจะไม่ปล่อยให้สินค้าหลักเพื่อผู้บริโภคในวงกว้างอย่าง "มาม่าซองละ 7 บาท" (รสต้มยำกุ้ง, หมูสับ) ขาดตลาดอย่างแน่นอน


"ที่ผมบอกว่าผลิตไม่ทัน ไม่ใช่ตัวมาม่า 7 บาท เพราะกลุ่มนี้คือสินค้าจำเป็นที่เราให้คำมั่นกับประชาชนและภาครัฐว่าจะไม่ให้ขาดตลาด แต่ส่วนที่ผลิตไม่ทันคือกลุ่มพรีเมียมที่ตลาดเติบโตเร็วจนเราขยายกำลังการผลิตตามไม่ทันจริงๆ"


สำหรับแผนการลงทุนในต่างประเทศ นายพันธ์เปิดเผยว่าสั่งเบรกแผนลงทุนฮังการี-จับตาสถานการณ์กัมพูชาโดยบริษัทได้ตัดสินใจ "ชะลอโครงการขยายโรงงานในประเทศฮังการีออกไปอย่างไม่มีกำหนด" เนื่องจากนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาลฮังการีไม่เอื้อต่อการลงทุน โดยเฉพาะการจำกัดระยะเวลาทำงานของแรงงานไทยที่มีความเชี่ยวชาญ ประกอบกับต้นทุนการก่อสร้างและพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาที่ปิดชั่วคราว ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากยอดขายในกัมพูชาไม่ใช่ตลาดหลัก และบริษัทสามารถนำสินค้าไปจำหน่ายในตลาดอื่นที่มีความต้องการสูงอยู่แล้วทดแทนได้