TISCO แนะจัดพอร์ตรับมือความผันผวน ชู ‘Global Bond - ทองคำ’
ชี้เศรษฐกิจไทยเผชิญมรสุมรุมเร้าโตต่ำ 2.0% ห่วงการเมืองซ้ำเติม-เสี่ยงถดถอยครึ่งปีหลัง
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เผยมุมมองด้านการลงทุนว่า ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกและไทยมีความไม่แน่นอนสูง ตลาดหุ้นมีความผันผวนและมูลค่าค่อนข้างแพง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงของภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อสูง) นักลงทุนจึงควรเน้นการกระจายความเสี่ยง
"ผมคิดว่าคำตอบหนึ่งก็คือ Global Bond (พันธบัตรทั่วโลก) ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยได้มากกว่าฝั่งสหรัฐฯ เนื่องจากธนาคารกลางนอกสหรัฐฯ สามารถลดดอกเบี้ยได้มากกว่า และอีกคำตอบน่าจะเป็นทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ดีในภาวะ Stagflation" นายกล้องกล่าว
จับตาภูมิรัฐศาสตร์โลก-ความขัดแย้งตะวันออกกลาง โดยชี้ว่าแม้จะมีกระแสเรื่องการลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์ (De-dollarization) แต่การอ่อนค่าของดอลลาร์ในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการปรับฐานหลังจากที่แข็งค่ามากเกินไป และผู้เล่นสำคัญในตลาดดอลลาร์ยังคงเป็นภาคเอกชนที่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุน
ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน โดยชี้ว่าเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเชิงโครงสร้างที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก เมื่อทั้งสองปัจจัยนี้อ่อนแรงลงจึงเกิดคำถามว่าจะนำอะไรมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
"ถ้าดูภาพของตัว GDP จะเห็นว่าจาก 3.1% จะค่อยๆ ลงมาเป็น 2.3% ในไตรมาส 2 และในไตรมาส 3-4 จะเหลือแค่ 0.7% กับ 0.1% และผมคิดว่ามันเสี่ยงมากที่ไตรมาสที่ 4 เราอาจจะเห็น GDP ติดลบเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าด้วยซ้ำ"
ประเด็นที่น่ากังวลคือ แม้ตัวเลขการส่งออกจะดูเหมือนดี แต่ในความเป็นจริงแล้วประโยชน์ไม่ได้ตกถึงภาคการผลิตในประเทศเท่าที่ควร เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อนำมาประกอบและส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ข้อมูลชี้ว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ และการนำเข้าจากจีนมีความสัมพันธ์กันสูงถึง 90% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในประเทศกลับซึมลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากการส่งออกไม่ใช่ผู้ผลิตไทย แต่เป็นผู้นำเข้าสินค้าจากจีน
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นความหวังสำคัญก็ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าปีนี้อาจจะมาเพียง 2 ใน 3 ของปีที่แล้ว หรือประมาณ 4.5 ล้านคน จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้สูงกว่านี้ ส่งผลให้ภาพรวมนักท่องเที่ยวทั้งปีอาจลดลงเหลือเพียง 33.5 ล้านคน ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าเกือบ 6%
สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง มองว่ามีโอกาสน้อยมากที่อิหร่านจะปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญของโลกเนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศคู่ค้าสำคัญของอิหร่านเอง โดยเฉพาะจีน การกระทำดังกล่าวจึงไม่สมเหตุสมผลและจะทำลายเศรษฐกิจของอิหร่านเองที่กำลังเปราะบางอยู่แล้ว ดังนั้นความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันที่พุ่งสูงจากประเด็นนี้จึงอาจเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้น ดังนั้นมองว่าราคาน้ำมันจะกลับไปที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงท้ายปี