SET เผยแรงกดดันแผ่นดินไหว-นโยบายสหรัฐฯ ฉุด หุ้นร่วง นักลงทุนกังวล แต่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวจากการซื้อหุ้นคืน

  นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งกระทบกับกลุ่มขนส่ง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มประกันภัย และกลุ่มรับเหมา ทำให้ผู้ลงทุนมีความกังวลว่าอาจมี บจ. ในกลุ่มดังกล่าว อาจได้รับผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ แต่หากพิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ พบว่า บจ. ยังมีความเข้มแข็งและน่าจะสามารถผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปได้ อีกทั้ง SET Index ช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก ทำให้ Valuation ของหลักทรัพย์อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ดังนั้น เริ่มเห็นสัญญาณ บจ. ไทยเข้ามาช่วยหนุนมูลค่าบริษัทของตัวเองโดยการเข้ามาซื้อหุ้นคืน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน ขณะที่ Value Stock เริ่มมี downside ที่จำกัด


         ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยเดือนมีนาคม 2568

เดือนมีนาคม 2568 SET Index ปิดที่ 1,158.09 จุด ปรับลดลง 3.8% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 SET Index ปรับลดลง 17.3%  กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2567 ได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มทรัพยากร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอาหาร และ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 38,491 ล้านบาท หรือลดลง  10.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วงไตรมาส 1/2568 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมฯ อยู่ที่ 42,826 ล้านบาท ลดลง  6.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 21,852 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2568 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 39,978 ล้านบาท 


          วันที่ 8 เมษายน 2568 SET Index ปิดที่ 1,074.59 จุด ลดลง 4.50% มูลค่าการซื้อขายรวม 66,714 ล้านบาท สะท้อนแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากความวิตกต่อมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ 9 เมษายน 2568 โดยนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนโยบาย "Liberation Day" SET Index ปรับลดลง 8.4% สอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค   Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 12.2 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 11.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 15.2 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.9 เท่า

อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 4.24% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.34%  ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เดือนมีนาคม 2568 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 519,619 สัญญา เพิ่มขึ้น 7.1% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures ทำให้ในปี 2568 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 463,656 สัญญา ลดลง 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ Gold Online 


       นายอัสสเดช คงสิริ ดำรงตำแหน่ง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เผยว่า การกำหนดมาตรการที่ออกมาในช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา ได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการปรับลดเกณฑ์ Circuit breaker เพื่อลดความผันผวน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมาตรการกำหนดราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling/Floor) ยังคงสามารถช่วยลดความผันผวนได้ในระดับหนึ่ง จึงยังไม่มีการนำมาตรการลด Circuit breaker มาใช้นั่นเอง


ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนบางกลุ่มคือกระแสข่าวลือเกี่ยวกับการขายหุ้นของกองทุนวายุภักษ์ อย่างไรก็ตาม ทางนางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง 1ได้ฝากนายอัสสเดชมายืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะไม่มีการขายหุ้นออกในช่วงนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดและนักลงทุน


นอกจากนี้ คุณอัสสเดชยังมองว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงต้องติดตามความชัดเจนของการเจรจาระหว่าง ครม. ไทยและประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งผลของการเจรจาจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางของตลาดในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม มุมมองโดยรวมยังคงเป็นไปในทางบวก โดยคาดหวังว่าการเจรจาจะนำมาซึ่งผลประโยชน์และความร่วมมือที่ดีระหว่างทั้งสองประเทศ