IRPC พลิกวิกฤติเป็นโอกาสรับมือโควิด – 19 เร่งปรับตัว พร้อมแผนการรองรับได้ทันท่วงที

IRPC ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจสร้างความเข้มแข็งรับมือโควิด – 19 ความผันผวนราคาน้ำมัน ความต้องการที่เปลี่ยนไปและภาวะเศรษฐกิจโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและการทำกำไรทั้งระยะสั้นและระยะยาว                                                                              

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่าแม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ได้ส่งผล กระทบทุกภาคส่วนและก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกแต่บริษัทฯ เล็งเห็นถึงโอกาสภายใต้วิกฤติจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปรวมทั้งต้นทุนในการซื้อน้ำมันดิบ (Crude Premium) ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2563 ของIRPC ปรับตัวดีขึ้นเพื่อรับมือความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากสถานการณ์โควิด - 19 และสงครามราคาน้ำมันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รักษาความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการทำกำไรผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1. Maintain Strong Market Position สำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ด้วยการขยายส่วนแบ่งการตลาดในประเทศ ควบคู่ไปกับการเสาะหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี นอกจากการติดตามสินค้าคงคลังของลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถเข้าถึงและรู้ถึงความต้องการของลูกค้าแล้ว IRPC ยังมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มที่ตอบโจทย์วิถีการดำรงชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) และ Mega trend โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยรูปแบบและวิธีการทำงานร่วมกันระหว่างลูกค้า ฝ่ายการตลาด และนักวิจัยของ IRPC เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางการขายผ่าน E - Commerce 2. CAPEX & OPEX Reduction จัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนและปรับลดค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 3. โครงการ Strengthen IRPC บริหารจัดการสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เช่น การเพิ่มปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในช่วงราคาต่ำ (Strategic Crude) เพิ่มช่องทางจำหน่ายน้ำมันทั่วประเทศผ่านระบบท่อ ขุดลอกร่องทางเดินเรือรองรับเรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งน้ำมันดิบต่อหน่วย พร้อมทั้งนำระบบดิจิทัลมาใช้ทั่วทั้งองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนในระยะยาว

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 IRPC มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่4,669  ล้านบาท (8.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากต้นทุนน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี โดยเฉพาะกลุ่มบรรจุภัณฑ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมส่วนใหญ่ยังคงถูกกดดันจากความต้องการที่ปรับตัวลดลง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด – 19

ส่วนความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 2/2563 โดยในช่วงต้นไตรมาสปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2563 และเริ่มฟื้นตัวในเดือนพฤษภาคม 2563 ทำให้ IRPC มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม 89 ล้านบาทหรือ 0.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ IRPC มีกำไรจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 4,758 ล้านบาท หรือ 8.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เทียบกับไตรมาสก่อนที่มีผลขาดทุนของ Accounting GIM จำนวน3,146 ล้านบาท ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 411 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1 ถึง 8,494 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าในครึ่งปีหลังความต้องการผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันดิบครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ประมาณ 40 – 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งบริษัทฯ อาจได้รับประโยชน์จาก Stock gain และจากปริมาณความต้องการของตลาดจะปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการล๊อคดาวน์ของหลายประเทศ ที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น