บล.บัวหลวง มองหุ้นไทยครึ่งหลัง แกว่งตัว 1280-1450 จุด ชูกลยุทธ์ Sector Rotation เน้นสร้างพอร์ตลงทุน ด้วย หุ้นเติบโต ผสม หุ้นปันผล


 

หลักทรัพย์บัวหลวง        ชี้ตลาดหุ้นไทยครึ่งหลังปี 63 แกว่งตัว หลังไวรัสโควิด-19 กดดันภาพรวมเศรษฐกิจ          ฉุดกำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2 ปี 63  ลงเฉลี่ย 40%    แนะสร้างโอกาสการลงทุน 6 เดือนหลัง                   ด้วยกลยุทธ์ “Sector Rotation” เน้นสร้างพอร์ตลงทุน ด้วย “หุ้นเติบโต” ผสม “หุ้นปันผล” พร้อมกระจายความเสี่ยงผ่านการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 อาจเคลื่อนไหวในกรอบ 1,280-1,450 จุด                เนื่องจากปัจจุบันหุ้นไทยซื้อขายเฉลี่ยบนค่า P/E 22 เท่าของประมาณการกำไรต่อหุ้นปี 2563 และบนค่า P/E เฉลี่ย       16.7 เท่าของประมาณการกำไรต่อหุ้นปี 2564 เมื่อเทียบค่าเฉลี่ย P/E ในช่วง 10 ปีก่อนที่อยู่ประมาณ 16 เท่า ฉะนั้น       การเคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้น หรือ December Rally ในช่วงปลายปีนี้อาจไม่เกิดขึ้น

ปัจจัยหลักที่กดดันตลาดหุ้น คือ 1.การชะลอตัวทางเศรษฐกิจคาดว่าจะยาวนานกว่านักลงทุนคาดไว้                    2.ภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว และ 3.กำไรบริษัทจดทะเบียนลดลงแรงกว่าที่คาด ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้รับผลกระทบมาจากการล็อกดาวน์ประเทศ หลังพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา โดยจะส่งผลกระทบหนักสุดในช่วงไตรมาส 2 ปี 63 เราคาดว่า กำไรบริษัทจดทะเบียนในช่วงไตรมาส 2 อาจลดลงเฉลี่ย 40% ซึ่งอาจเป็น “จุดต่ำสุด”  เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมาที่กำไรบริษัทจดทะเบียนลดลง 25% และจะค่อย ๆ เห็นการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปี 2563 ก่อนจะกลับมาเป็นปกติในปลายปี 2564 ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 18 เดือน

ส่วนปัจจัยบวกสนับสนุนตลาดช่วงนี้ คือ 1.สภาพคล่องในระบบที่สูงมาก 2.สถานะสถาบันการเงินที่แข็งแกร่ง    3.อัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำ 0.50ต่อปี และ 4. อัตราผลตอบแทนเงินปันผลของตลาดปีนี้ที่อยู่เฉลี่ย 2 - 2.2%       ถือว่าสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยครบอายุ 3 ปีที่ 0.52% แต่ใกล้เคียงอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้บริษัทเอกชนเรทติ้ง A+ ที่อยู่ราว 2.4% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เม็ดเงินลงทุนยังไม่ไหลออกไปจากตลาดหุ้น     อย่างไรก็ดีปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงนี้ คือ 1.การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบสอง หลังในช่วงกลางเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ทหารอียิปต์ และเด็กหญิงอายุ 9 ปี ครอบครัวอุปทูตซูดานติดเชื้อเข้ามาในประเทศไทย 2.การควบคุม ผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯ และยุโรป 3.การเร่งค้นคว้าผลิตวัคซีนต้านโควิด-19

“ผลตอบแทนตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP (ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) นับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน -14.8%, -19.2%  และ -22.92%  ตามลำดับ โดยดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่ำสุดในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งติดลบมากสุดถึง 40% ส่วนตลาดหุ้นไต้หวันบวก 1.95% ตรงกันข้ามกับตลาดหุ้นเกาหลีที่ -0.2% ตามลำดับ หลังได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของสหรัฐฯ และตลาดหุ้นทั้ง 2 แห่งมีหุ้นเกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ และไอทีค่อนข้างมาก” นายชัยพร กล่าว

นายชัยพร กล่าวต่อว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจมีลักษณะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในรูป U-shaped เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีค่อนข้างสูง ดังนั้นกำไรบริษัทจดทะเบียนก็จะฟื้นตัวในรูป U-shaped เช่นกัน ขณะที่การฟื้นของตลาดหุ้นไทยอยู่ในรูปแบบตัว V-shaped ฉะนั้นในช่วงครึ่งหลังปี 2563 แนะนำลงทุน ด้วยกลยุทธ์ “Sector Rotation” หรือสลับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนเป็นรอบ ๆ ขึ้นให้ขาย ลงให้ซื้อ เน้นลงทุนหุ้นไทย โดยผสมระหว่าง “หุ้นเติบโต” และ “กองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ให้ปันผลสูง”  

โดยหุ้นกลุ่มที่มีแนวโน้มกำไรเติบโตที่ดี คือ กลุ่มส่งออกอาหารประเภท หมู ไก่ ทูน่า, กลุ่มบรรจุหีบห่อ               และกลุ่มคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลัง คือ กลุ่มร้านอาหาร, กลุ่มปิโตรเคมี, กลุ่มน้ำมันและโรงกลั่น ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะฟื้นตัวช้า คือ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า, กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และกลุ่มบริการ                       เช่น โรงพยาบาล และท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งอาจฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปจนถึงสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2564

ในช่วงตลาดหุ้นผันผวน นักลงทุนจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยง ด้วยการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์       (Asset Allocation) แบ่งเป็น 1.หุ้นกู้และตลาดเงิน สัดส่วน 40% 2.ทองคำ สัดส่วน 12%, 3.กองทุนอสังหาริมทรัพย์, กองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ สัดส่วน 7% และตลาดหุ้นไทย สัดส่วน 10%

ส่วนที่เหลือลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ สัดส่วน 31% โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตลาดหุ้นเวียดนาม          และตลาดหุ้นฮ่องกง เน้นกลุ่มค้าปลีกออนไลน์ (e-commerce), กลุ่มซอฟต์แวร์บริการ (Software-as-a-Service)           และกลุ่มการแพทย์ (Healthcare) เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการแพร่ระบาดโควิด-19, การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และการทำงานจัดการขององค์กรทั่วโลกผ่านระบบออนไลน์ที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว