EXIM BANK สนับสนุน Green Yellow ลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

EXIM BANK สนับสนุน Green Yellow ลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยใช้พลังงานสะอาด ยกระดับธุรกิจไทยสู่เศรษฐกิจสีเขียว
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนายแฟรงค์ คลุค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท กรีนเยลโล่ (Green Yellow) ในประเทศไทยและเอเชีย ลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินจำนวนรวม 1,109 ล้านบาท ให้แก่บริษัท กรีนเยลโล่ โซล่าร์ 3 (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อนำไปใช้ลงทุนพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า การสนับสนุนทางการเงินของ EXIM BANK ในครั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้บริษัทด้านพลังงานระดับโลกมีบทบาทช่วยเหลือในการติดตั้งและดูแลระบบโซลาร์เซลล์ให้แก่สถานประกอบการในไทย เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกโดยใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) เพื่อร่วมกับประชาคมโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท กรีนเยลโล่ เริ่มก่อตั้งในฝรั่งเศสและมีสำนักงานใน 17 ประเทศทั่วโลก เชี่ยวชาญด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคให้กับคู่ค้าทั่วโลก ดำเนินโครงการโดยการลงทุน-ติดตั้ง-ดูแลโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ถึง 1,300 MW สำหรับโครงการในประเทศไทยที่ดำเนินการติดตั้งแล้วมีกำลังการผลิต 190 MW ในหลายอุตสาหกรรม บริษัท กรีนเยลโล่ โซล่าร์ 3 (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Solar PPA กับผู้ประกอบการมากกว่า 34 ราย เพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป หลังคาโรงจอดรถแบบโซลาร์เซลล์ โซลาร์ลอยน้ำ และโซลาร์ฟาร์ม มีกำลังการติดตั้งรวม 56 MW และมีแผนขยายธุรกิจให้เติบโตในประเทศไทยและอาเซียน
“EXIM BANK มุ่งดำเนินบทบาท Green Development Bank โดยชูกลยุทธ์ Greenovation พัฒนานวัตกรรมการเงินสีเขียว เร่งผลักดันธุรกิจไทยทุกระดับเข้าสู่ Green Supply Chain และขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 เร็วกว่าเป้าหมายประเทศไทย 20 ปี และ15 ปีตามลำดับ ผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ควบคู่กับการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2571” ดร.รักษ์ กล่าว