“TNL” อู้ฟู่ ขายหุ้นบริษัทย่อยธุรกิจสิ่งทอฯ “ทีเอ็นแอลเอ็กซ์” ให้ ไอ.ซี.ซีฯรับเงิน 670 ล้านบาท


 

“ธนูลักษณ์” หรือ TNL ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ขายหุ้นทั้งหมดในธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ TNL ถือในบริษัทย่อย “ทีเอ็นแอลเอ็กซ์” ให้ “ไอ.ซี.ซี.” และอีก 3 บริษัทในเครือสหพัฒน์ พร้อมเบนเข็มรุกธุรกิจด้านการเงิน “New Engines” เต็มกำลัง มุ่งสร้าง Synergy ภายในกลุ่มบริษัทและกระจายความเสี่ยง พร้อมผลักดันการเติบโตทั้งด้านรายได้-กำไรสุทธิ ระยะยาว

นายกิตติชัย ตรีรัชตพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) หรือ TNL เปิดเผยว่า TNL จะจำหน่ายหุ้นสามัญทั้งหมดที่ถือในบริษัท ทีเอ็นแอลเอ็กซ์ จำกัด หรือ TNLX (บริษัทย่อยที่ TNL ถือหุ้น 100%) ให้กับผู้ซื้อจำนวน 4 ราย โดยมีบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ ICC ซึ่งเป็นคู่ค้ากับ TNLX อยู่เดิม กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในสัดส่วน 70% ขณะที่ผู้ซื้อที่เหลืออีก 3 ราย เป็นบริษัทภายในเครือสหพัฒน์ ประกอบด้วย บริษัท ไอ.ดี.เอฟ. จำกัด บริษัท บีเอสซี โซอิน จำกัด และบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โดยจะเป็นพันธมิตรที่จะช่วยส่งเสริมการสร้างเครือข่ายพันธมิตรให้กับ TNLX ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 และคาดว่ากระบวนการซื้อขายทั้งหมดจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2567

ปัจจุบัน TNLX ประกอบธุรกิจธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีประสบการณ์ยาวนานเกือบ 50 ปี โดยเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องหนังสำหรับผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กภายใต้เครื่องหมายการค้าสากลที่ TNLX ได้รับลิขสิทธิ์ อาทิ ARROW , Guy Laroche, DAKS, ELLE, Absorba เป็นต้น รวมถึงเครื่องหมายการค้าของ TNLX เอง อาทิ Era-won เป็นต้น เพื่อจำหน่ายในประเทศ รวมถึงเป็นผู้ผลิตสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องหนังเพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าต่างประเทศ โดยที่ลูกค้าในประเทศรายสำคัญของ TNLX คือ ICC  

นายกิตติชัย กล่าวว่า การจำหน่ายหุ้นทั้งหมดใน TNLX ของบริษัทในครั้งนี้ให้กับ ICC ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้าของธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มที่สำคัญของบริษัทมายาวนาน จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและสร้างประโยชน์ร่วมกันให้กับทั้ง 2 ฝ่าย โดยบริษัทจะได้รับเงินสดจากธุรกรรมในครั้งนี้จำนวน 670 ล้านบาท ซึ่งจะนำเงินดังกล่าวมาลงทุนในธุรกิจการเงิน Asset Financing และ Secured AMC โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจ Secured AMC ซึ่งคาดว่าจะมี supply จากธนาคารพาณิชย์ที่จะปล่อย NPLs มาขายในตลาดไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว หรือประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นโอกาสที่สำคัญของบริษัทในการเข้าซื้อ NPLs ที่มีศักยภาพเพื่อสร้างความเติบโต มากกว่านั้น ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนจากการจำหน่ายหุ้นในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทมีโครงสร้างธุรกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้นทั้งแง่ของการจัดสรรทรัพยากรและการบริหารจัดการ โดยมุ่งเน้นที่ธุรกิจการเงินและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่จะส่งเสริมกัน

ทั้งนี้ TNL ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการปรับโครงสร้างองค์กร และเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ โดยการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็น New Engines มาเสริมทัพธุรกิจเดิมทำให้โครงสร้างธุรกิจของบริษัทเติบโตจากการเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว เป็นการประกอบธุรกิจใน 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญอยู่เดิม และเสริมทัพด้วยธุรกิจใหม่ซึ่งได้แก่ 2. ธุรกิจให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่มีหลักประกัน (Asset Financing) 3. ธุรกิจการเงินประเภทธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) และ 4. ธุรกิจการลงทุนในบริษัทร่วมทุนเพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย (Real Estate for Sale)

โดยตลอดปี 2566 TNL ได้เดินหน้าสร้างการเติบโตผ่านธุรกิจใหม่โดยเฉพาะธุรกิจด้านการเงิน ทั้งธุรกิจ Asset Financing และธุรกิจ AMC อย่างเต็มที่ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี แม้จะเป็นผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจแต่สามารถสร้างการเติบโตที่ดี โดยในปี 2566 บริษัทมีกำไรจากธุรกิจการเงินกว่า 320 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 55% ของกำไรทั้งหมด รวมถึงมีการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งในด้านธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผ่านการลงทุนในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

“การเพิ่ม 3 Engines ใหม่ นอกจากสร้าง Synergy ภายในกลุ่มบริษัทแล้ว ยังเป็นการกระจายความเสี่ยง จากการที่บริษัทมีธุรกิจ Asset Financing ซึ่งมีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันหลัก และมีธุรกิจ AMC ที่เน้นสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีหลักประกัน รวมถึงการมี engine ของธุรกิจ Real Estate for Sale ทำให้เรามีเครือข่ายและความรู้เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างดี จะเป็นหนึ่งในจุดแข็งและเป็น Synergy ที่สร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับบริษัทในระยะยาวได้” นายกิตติชัย กล่าว

สำหรับผลที่จะเกิดขึ้นจากการจำหน่ายหุ้น TNLX ในครั้งนี้ จะไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการลดลงของกำไรสุทธิของบริษัท เนื่องจาก TNLX มีสัดส่วนกำไรสุทธิประมาณ 8% ของกำไรสุทธิในปี 2566 และบริษัทยังสามารถนำเงินรับจากการจำหน่ายหุ้นดังกล่าวไปขยายการลงทุนได้ (Reinvestment) อย่างไรก็ดีจะส่งผลต่อโครงสร้างรายได้ตามงบการเงินของบริษัทเปลี่ยนแปลง จากเดิมรายได้จากการขายซึ่งมาจาก TNLX เป็นหลักอยู่ที่ 56% ของรายได้รวมปี 2566 จะเปลี่ยนเป็นการมีรายได้จากธุรกิจด้านการเงิน ได้แก่ รายได้ดอกเบี้ยรับ ที่มาจากธุรกิจการให้สินเชื่อที่มีหลักประกัน และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และรายได้จากค่าที่ปรึกษาและการกำกับดูแลโครงการ ซึ่งมาจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายแทน ในระยะยาวการเปลี่ยนแปลงนี้จะสามารถผลักดันรายได้และกำไรสุทธิของบริษัทให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ส่วนทิศทางจากนี้ บริษัทในรูปโฉมใหม่ภายหลังจากการปรับโครงสร้างธุรกิจและการบริหาร           จะมุ่งเน้นการสร้าง ecosystem ของธุรกิจการเงินที่เกี่ยวเนื่องกับ Asset financing และ Secured AMC อย่างครบวงจร โดยในปี 2567 จะมุ่งการขยายพอร์ตสินเชื่อในธุรกิจ Asset financing และพอร์ต Secured NPLs อย่างต่อเนื่อง นอกจากให้ความสำคัญกับการผลักดันธุรกิจให้เติบโตแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของบริษัทโดยยึดหลักการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ บริหารจัดการธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมั่นใจว่าการเติบโตนี้จะเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน