SET ปรับเกณฑ์กำกับบจ.ในรอบ 19 ปี เริ่ม 25 มีนาคมนี้

SET ปรับเกณฑ์กำกับบจ.ในรอบ 19 ปี เริ่ม 25 มีนาคมนี้ ชี้ชัด SET ไม่เน้นปริมาณ ​แต่เน้นคุณภาพ

.

นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด และ นางดวงรัตน์ สมุทวณิช ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานกำกับบริษัทจดทะเบียนและตราสารอื่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการปรับยกระดับทั้งกระบวนการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน ถือเป็นการปรับเกณฑ์ในรอบ 19 ปี ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งแม้ความเข้มงวดในครั้งนี้ อาจจะส่งผลให้จำนวนของบริษัทจดทะเบียนในอนาคตจะลดลงแต่ทางตลาดฯ “ไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นคุณภาพ” โดยต้องการบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง และมีความสามารถในการทำกำไรต่อเนื่อง 


พร้อมเผย 19 บจ. เสี่ยงถูกเพิกถอน และหลังเริ่มใช้มาตการกำกับใหม่นี้ คาดว่ามี 50 บจ. เข้าข่ายถูกติดเครื่องหมาย C โดยหลังจากช่วงวันที่ 25 มีนาคม 2567 เป็นต้นไปจะมีการแยกการเตือนในเครื่องหมาย C ให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้นและรวมไปถึงมาตรการข้ออื่นๆ ซึ่งในวันนั้นเป็นต้นไปจะมี 18 บจ. จะถูกขึ้นเครื่องหมาย CB ที่เตือนนักลงทุนว่าบริษัทเหล่านี้มีปัญทางการเงินนั่นเอง


ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าเครื่องหมายเตือนนักลงทุนเพิ่มเติมในครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนกระตือรือร้นที่จะแก้ไขปัญหาให้ตรงไปตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ได้ตามระยะที่กำหนด


การยกระดับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อดูแลผู้ลงทุนให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและมีเครื่องหมายเพื่อเตือนผู้ลงทุนว่าบริษัทจดทะเบียนมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจต่างๆ รวมไปถึงการปรับปรุงการพิจารณาคุณสมบัติ Backdoor Listing และ Resume Trading ให้เทียบเท่า New Listing โดยเริ่มทยอยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับปรุงเกณฑ์ 4 เรื่อง สำคัญดังนี้


1. ปรับปรุงคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้ง SET และ mai โดยเพิ่มมูลค่ากำไรและส่วนของผู้ถือหุ้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทั้งด้านฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน ซึ่งจะมีผลใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อให้บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนและผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามเกณฑ์ใหม่ได้

2. ยกระดับการเตือนผู้ลงทุน โดยเพิ่มเหตุที่จะเตือนผู้ลงทุนด้วยเครื่องหมาย ดังนี้ 

2.1 กรณีบริษัทจดทะเบียนมีความเสี่ยงด้านฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน สภาพคล่องทางการเงิน ทั้งกรณีไม่มีธุรกิจ มีขาดทุนต่อเนื่อง หรือผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงินหรือตราสารหนี้ 

2.2 กรณีผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน 

2.3 กรณีบริษัทจดทะเบียนมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ เป็น Cash Company มีคณะกรรมการตรวจสอบหรือ Free Float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ หรือไม่จัด Opportunity Day ตามที่กำหนด 


โดยการเตือนผู้ลงทุนจะแสดงด้วยเครื่องหมายที่แตกต่างกันตามแต่ละเหตุ  ซึ่งเครื่องหมายใหม่นี้จะทดแทนเครื่องหมาย C (Caution) ในปัจจุบันด้วย  

3. เพิ่มเหตุเพิกถอนกรณีบริษัทจดทะเบียนไม่มีธุรกิจต่อเนื่องหลายปี หรือไม่สามารถแก้ไข Free Float ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพเหมาะสมที่จะเป็นบริษัทจดทะเบียน 

4. เพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณาคุณสมบัติบริษัทที่เข้าจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และกรณีย้ายกลับมาซื้อขายหลังแก้ไขเหตุอาจถูกเพิกถอน (Resume Trading) ให้เทียบเท่ากับการเข้าจดทะเบียนใหม่ (New Listing) เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพใกล้เคียงกัน โดยการปรับปรุงในข้อ 2–4 จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2567 เป็นต้นไปทั้งนี้


เกณฑ์ดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว 


#SET #ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย