GUNKUL ฉลุย ผถห.ให้ปันผล 0.136 บ.


ผู้ถือหุ้น บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) โหวตรับมติปันผลเป็นเงินสดอย่างพร้อมเพรียงในอัตรา 0.136 บาทต่อหุ้น  เตรียมขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 28 เมษายนนี้ กำหนดรับทรัพย์วันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ขณะที่ “โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์” ระบุ ธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งโซลาร์ฟาร์ม และลม แนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มั่นใจหนุนรายได้รวมปี 63 โตตามเป้าไม่ต่ำกว่า 25% รายได้แตะ 9 พันล้านบาท

 

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)  (GUNKUL) เปิดเผยว่า  ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผล สำหรับงวดปี 2562 ให้กับผู้ถือหุ้นเป็นเงินสด ในอัตราหุ้นละ 0.136 บาท  รวมเป็นเงินปันผลทั้งสิ้น 1,200  ล้านบาท  

พร้อมกันนี้ยังได้อนุมัติการลดทุนจดทะเบียนของบริษัท ในส่วนที่ไม่สามารถจัดสรรเพื่อจ่ายหุ้นปันผลได้ตามมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 จำนวน  19,814,818 หุ้น หรือ 4,953,704.50 บาท โดยวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record Date) ในวันที่  29 เมษายน 2563 วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 28 เมษายน 2563 และกำหนดจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 

อีกทั้งยังอนุมัติเพิ่มวงเงินในการออกและเสนอขายหุ้นกู้อีกจำนวน 6,000 ล้านบาท จากวงเงินเดิมไม่เกิน 9,000 ล้านบาท รวมวงเงินใหม่ไม่เกิน 15,000 ล้านบาท อายุไม่เกิน 7 ปี 

“จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาธุรกิจพลังงานทดแทนและผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี การที่บริษัทฯ จ่ายปันผลเป็นเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นครั้งนี้ เพื่อเป็นการขอบคุณผู้ถือหุ้นที่ได้ให้โอกาสและสนับสนุนบริษัทด้วยดีเสมอมา ทีมผู้บริหารจะมุ่งทำงานสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดให้กับผู้ถือหุ้นทุกท่านอย่างเต็มความสามารถ เราอยากให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจว่าผู้บริหารจะผลักดันธุรกิจในเครือ GUNKUL ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพทุกส่วน ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะแพร่กระจายและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น บริษัทฯ ยังคงดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องโดยได้รับ

 

ผลกระทบน้อยมาก สำหรับครึ่งปีแรก เท่าที่ดูสถานการณ์โรคในปัจจุบันก็น่าจะดีขึ้นตามลำดับ ฉะนั้น ยังมั่นใจว่า GUNKUL ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง"

 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวต่อว่า บริษัทฯ มีความมั่นใจในศักยภาพการเติบโตของธุรกิจพลังงานทดแทนที่ดำเนินการอยู่ โดยที่ผ่านมาธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีความมั่นคงมากขึ้นจากการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์โครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหางานใหม่ๆ เพิ่มเติม  และยังคงมีแผนเข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)  คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อ ให้ทำให้งานในมือ (order backlog) เพิ่มขึ้น 

ประกอบกับปัจจุบันบริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รวม 650 เมกะวัตต์ และสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้แล้ว 437 เมกะวัตต์   จึงทำให้มั่นใจรายได้และกำไรสุทธิในปีนี้จะเติบโตอย่างโดดเด่น  โดยบริษัทฯ มั่นใจว่ารายได้และกำไรจะเติบโตทุกไตรมาสเมื่อเทียบกับปี 2562