SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 67 อาจเผชิญความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจระดับสูง

    SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2567 เป็นอีกปีที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระดับสูงต่อเนื่องจากหลายปัจจัย ดัชนีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2567 คาดว่าจะปรับลดลงจากปีนี้ แต่จะยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิดถึง 24% โดยเฉพาะจากปัจจัยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและนโยบายการคลังไทย ซึ่งทั้งสองปัจจัยจะกระทบการส่งออกสินค้าของไทย 2%QOQ และการบริโภคภาคเอกชนไทย 1%QOQ ทันทีในไตรมาสนั้น ๆ ตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินและการเมืองภายในประเทศที่ปรับลดลง สำหรับความไม่แน่นอนจากปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์แม้จะเป็นประเด็นเสี่ยงสำคัญในโลก แต่ผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกสินค้ายังมีน้อย 


    ขณะที่ปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจหลายด้าน โดยเฉพาะการลงทุนและการส่งออกที่จะปรับดีขึ้น รวมถึงนโยบายกระตุ้นของภาครัฐ โดย SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2024 จะเติบโตต่อเนื่องที่ 3.5% และกลับไปแตะระดับศักยภาพเดิมได้ในช่วงต้นปี โดยมูลค่าส่งออกไทยจะกลับมาขยายตัวได้ 3.5% จากทิศทางการค้าโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้บ้างและปัญหาคอขวดอุปทานคลี่คลายลง และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 4.4% จากแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment : BOI) และการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัว นอกจากนี้ โครงการ Digital wallet อาจช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยในปี 2024 เติบโตเกิน 5% ชั่วคราว แต่ต้องแลกด้วยหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นแตะเพดาน 70% เร็วขึ้นในระยะปานกลาง


    นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ไปในปี 2567 โลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นและอาจส่งผลกระทบมายังประเทศไทยได้ในที่สุด โดย SCB EIC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2567 จะเติบโตได้ใกล้เคียงปีนี้อยู่ที่ 2.3% ซึ่งเติบโตชะลอลงจาก 3% ในปี 2565 กลุ่มประเทศต่าง ๆ จะมีแนวโน้มฟื้นตัวไม่พร้อมกัน (Unsynchronized) โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้อยู่แม้จะเผชิญดอกเบี้ยขึ้นแรงต่อเนื่องจนมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตดีขึ้นจากภาคบริการและแรงสนับสนุนของนโยบายเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ ภูมิภาคเอเชียจะยังเติบโตต่อเนื่อง


    ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและจีนกลับเห็นสัญญาณขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะภาคการผลิต ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงส่งผลให้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่สูง เช่น เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้าจากปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวที่ใช้เวลาแก้ไข ภาคอสังหาริมทรัพย์จีนซบเซาส่งผลลบต่ออุปสงค์ภายในประเทศจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่อาจเร่งตัวตามการลดอุปทานน้ำมันของ OPEC+ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจยืดเยื้อรุนแรงขึ้น ภัยแล้งจากเอลนีโญที่อาจทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงผลกระทบจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่จะอยู่ในระดับสูงนานต่อเสถียรภาพระบบการเงินโลก นอกจากนี้ โลกจะยังมีความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศจึงอาจส่งผลกระทบมายังความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยได้ในทางหนึ่ง


    นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายในประเทศอีกด้วย แม้ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศจะปรับลดลงหลังจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 แต่เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลังไทยของรัฐบาลชุดใหม่ ทั้งจากชุดนโยบายระยะสั้นและระยะยาว  สำหรับความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงินปรับลดลงบ้างหลังคณะกรรมการนโยบายการเงินสื่อสารไว้ในการประชุมปลายเดือนกันยายน 2023 ว่า การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจนถึงระดับ 2.5% เป็นระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวแล้ว 



#สรุปภาวะการลงทุน #SCBEIC #StockReview #BusinessLineandLife #ข่าวการลงทุน #ข่าวหุ้น #สรุปสภาวะตลาด