ANI เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักหลักทรัพย์ฯ

ANI โชว์ศัยภาพผู้นำธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบินในอาเซียน จีน และฮ่องกง

เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักหลักทรัพย์ฯ

 

บริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ ANI พร้อมเผยศักยภาพและความพร้อมในการเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบิน (Cargo General Sales Agent: GSA) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในสาธารณรัฐประชาชนจีน และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประกาศแผนขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 554,738,900 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 30.0 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ เตรียมเข้าจดทะเบียนในหมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในฐานะหุ้นธุรกิจ GSA รายแรกและรายเดียวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 

คุณบี เล็ง โก๊ะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ANI เป็นผู้นำธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบิน (GSA) ให้แก่สายการบินชั้นนำกว่า 20 สายการบินใน ประเทศและเขตบริหารพิเศษ ประกอบด้วยไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา ครอบคลุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านการขนส่งทางอากาศของภูมิภาค และมีเส้นทางการบินไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 400 ปลายทาง จุดแข็งสำคัญคือ ANI มีความโดดเด่นจากการเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ระดับภูมิภาคที่ประกอบธุรกิจหลัก ซึ่งมีเพียง 3 ราย และมีส่วนแบ่งการตลาดรวมกัน 65-75% ANI ยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนของสายการบินชั้นนำมาอย่างยาวนานจากมาตรฐานและคุณภาพในการบริการของบริษัทฯ โดยมี 7 สายการบินเป็นคู่ค้ากับบริษัทฯ มากว่า 10 ปี รวมถึงมีคณะผู้บริหารและบุคลากรมืออาชีพที่มีประสบการณ์และความรู้ในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางอากาศมาอย่างยาวนานกว่า 35 ปี พร้อมทั้งได้รับประโยชน์ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันจากบริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ ที่ประกอบธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานขนส่งสินค้าเช่นเดียวกัน ทำให้ ANI มี Ecosystem ที่แข็งแกร่งและส่งเสริมการต่อยอดโอกาสการเติบโตในอนาคต” 

ANI สร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายพันธมิตรอย่างมีประสิทธิภาพ จากการที่สายการบินส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะใช้บริการ GSA เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสายการบินต้องการลดต้นทุนในการดำเนินงาน ประกอบกับ ปัจจัยสนับสนุนการขับเคลื่อนการเติบโตของ GSA ได้แก่

• เครือข่ายผู้ส่งสินค้าที่ครอบคลุม การว่าจ้างผู้ให้บริการ GSA ทำให้สายการบินไม่จำเป็นต้องจัดจ้างและบริหารทรัพยากรบุคคล หรือจัดตั้งสำนักงานดำเนินการเพิ่มเติม โดยผู้ให้บริการ GSA จะได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบของค่านายหน้า นอกจากนี้ สายการบินยังสามารถว่าจ้าง GSA ได้หลายรายในหลายประเทศหรือในพื้นที่เดียวกันเพื่อขยายเครือข่ายให้ทันต่อความต้องการทางธุรกิจ
• ช่วยบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้บริการจากผู้ให้บริการ GSA ที่มีประสบการณ์สามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่สายการบิน เนื่องจากผู้ให้บริการ GSA สามารถนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาสร้างประโยชน์ในเชิงรายได้ให้แก่สายการบิน ในขณะเดียวกันยังมีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่าการที่สายการบินดำเนินการด้วยตนเอง
• รวดเร็วกว่าการดำเนินงานด้วยตัวเอง GSA สามารถช่วยสายการบินในการขยายตลาดใหม่ ๆ ในต่างประเทศอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีเครือข่ายที่ครอบคลุมและมีความเข้าใจในตลาดต่าง ๆ เป็นอย่างดี  
• เข้าถึงฐานข้อมูลและกลุ่มลูกค้าในแต่ละประเทศ การทำงานร่วมกับ GSA ทำให้สายการบินสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลในตลาดของกลุ่มลูกค้าของผู้ให้บริการ GSA ได้ในทันที

ANI วางแผนการเติบโตอย่างต่อเนื่องสู่การเป็นผู้นำธุรกิจ GSA ในภูมิภาคเอเชีย โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ของรายได้ในปี 2566 – 2568 ที่ประมาณ 30% ซึ่งการจัดหาสัญญาใหม่ปีละ 6 – 8 สัญญา (อ้างอิงจากสภาวะตลาด อัตราค่าระวาง และแนวโน้มอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2566) และดำเนินกลยุทธ์ในการมุ่งการรักษาฐานลูกค้าเดิม และเติบโตไปพร้อมกับสายการบินที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันในเส้นทางใหม่ พร้อมขยายการให้บริการไปยังสายการบินรายใหม่หรือเส้นทางบินใหม่ ๆ โดยในระยะสั้นจะมุ่งขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมในกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตและความต้องการการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย และในระยะยาวจะขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมไปยังภูมิภาคอื่น เช่น ทวีปยุโรป และออสเตรเลีย เป็นต้น รวมไปถึงการขยายธุรกิจผ่านการเข้าซื้อกิจการ - ร่วมทุนกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจ GSA หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในอนาคต

นอกจากนี้ ANI ยังมีแผนพัฒนาบริการการขนส่งสินค้าทางอากาศของตนเอง ผ่านทางการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) รวมไปถึงร่วมกับผู้ให้บริการสายการบินขนส่งทางอากาศ (Freighter Flight) ในการนำเสนอระวางสินค้าสำหรับการขนส่งทางอากาศและเส้นทางบินของบริษัทฯ เอง เพื่อสร้างความยั่นยืนในระยะยาว 

 

ANI มีผลประกอบการที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563, 2564 และ 2565 มีรายได้รวม 4,842.7 ล้านบาท 7,791.3 ล้านบาท และ 7,744.1 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) สำหรับปี 2563 ถึงปี 2565เท่ากับ 26.5% ต่อปี ขณะที่ปริมาณการให้บริการยังมีการเติบโตตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จาก 91,097 ตัน ในปี 2563 เป็น 109,050 ตันในปี 2565 ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 7.5 % ต่อปี สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ANI มีรายได้รวม 2,668.6 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 431.ล้านบาท เติบโต 17.7% จากกำไรสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

การเสนอขาย IPO ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะส่งเสริมให้ ANI เติบโตสู่การเป็นผู้นำธุรกิจ GSA ในภูมิภาคเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์การระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้ปรับโครงสร้างทางการเงินจากการซื้อธุรกิจ GSA ในสิงคโปร์และมาเลเซียในช่วงปลายปี 2565 ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ เพื่อการเติบโตของบริษัทฯ ในอนาคต

ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลของ ANI เพิ่มเติมได้ที่ www.anicargo.com