นายกฯเคาะดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เริ่มใช้พ.ค.67 ผ่านแอปเป๋าตัง ยกเว้นคนที่มีรายได้เกิน 7 หมื่น หรือเงินฝากเกินห้าแสนบาท

นายกฯ เคาะดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท  เริ่มใช้พ..67 ผ่านแอปเป๋าตัง ให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ยกเว้นคนที่มีรายได้เกิน 7 หมื่น หรือเงินฝากเกินห้าแสนบาท คาดมีผู้เข้าร่วม 50 ล้านคน ใช้เงิน 5 แสนล้านบาท ใช้จ่ายได้ถึงเมษายน 2570

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2566 โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิทปลัดกระทรวงการคลัง และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุมและร่วมรับฟังการแถลงข่าว  ตึกสันติไมตรี (หลังนอกทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ในช่วงบ่ายวันนี้ว่า วันนี้ผมขอบอกข่าวดีกับพี่น้องประชาชน "โครงการ Digital Wallet ไม่ใช่แค่ความฝัน แต่กำลังเป็นความจริงครับ"  รัฐบาลได้หาข้อสรุปที่ดีที่สุดในการกระตุ้นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ผ่านการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งจะอยู่ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน และอีก 1 แสนล้านบาทในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ  และทุกอย่างที่ผมแถลงในวันนี้ จะยังต้องผ่านกระบวนการตามกฏหมาย และต้องมีมติของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะสรุปเป็น Final อีกครั้งหนึ่ง

สำหรับตัวเลขดังกล่าวเกิดจากการที่รัฐบาลรับฟังความเห็นจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ และหน่วยงานอื่นๆ  ทำงานร่วมกัน และปรับเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้รัดกุมขึ้น โดยรัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท  และถ้ารายได้เกิน 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ์ หรือ ถ้ารายได้น้อยกว่า 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน โดยให้สิทธิใช้ครั้งแรกในเวลา 6 เดือนหลังจากโครงการเริ่ม  และขยายพื้นที่การใช้จ่ายให้ครอบคลุมระดับอำเภอ

นอกจากนี้จะตั้งกองทุนในการเพิ่มขีดความสามารถ  ภายใต้งบ 1 แสนล้านบาท และส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ  เช่น เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคคลากรทางการศึกษา เป็นต้น  ซึ่งกองทุนนี้จะใช้ในการดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องต่อไป  และสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์จากโครงการนี้ก็สามารถร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดย รัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท  โดยให้ใบกำกับภาษี มาประกอบการยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ท่าน

กล่าวโดยสรุป นโยบายทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อประเทศใน 2 ด้านนั่นคือ 1.กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้นโดยมี "ประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญผ่านการบริโภคและการลงทุนและ 2. วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและ E-Government ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว 

นายกฯ ยังกล่าวย้ำ โครงการนี้เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล (Partnership) ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ และรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ ขอให้ประชาชนทุกคนที่ได้รับสิทธิร่วมกันใช้จ่ายด้วยความภาคภูมิใจ เป็นผู้ร่วมสร้างการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศของเรา