ไอแบงก์ เดินหน้าช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติม แก่ผู้ประสบภัยมูโนะ

ไอแบงก์ เผย หลังจากที่คณะกรรมการและผู้บริหารธนาคารได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจลูกค้าและผู้ประสบภัยจากเหตุโกดังเก็บพลุระเบิดที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส  พร้อมส่งมอบเงินบริจาคเบื้องต้น และออกมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นแก่ลูกค้าธนาคารไปแล้วก่อนหน้านี้ ล่าสุดไอแบงก์ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมแก่ผู้ประสบภัยเพื่อฟื้นฟูพี่น้องชาวตลาดมูโนะ ด้วยมาตรการทางการเงิน สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคแบบไม่มีหลักประกัน สินเชื่อเพื่อก่อสร้าง ซ่อมแซม ต่อเติมที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพแก่ผู้ประกอบการรายย่อย 

นายธีระ ยีโกบ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารกลุ่มงานธุรกิจสาขา เปิดเผยว่า “จากการที่ผู้บริหารได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้น และคณะกรรมการธนาคารได้มีนโยบายให้การช่วยเหลือพี่น้องชาวมูโนะ ให้กลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขดังเดิม จึงได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติม ดังนี้

1. สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน เช่น จัดหาของใช้ในครัวเรือน และเครื่องอำนวยความสะดวกในครอบครัว เป็นต้น  โดยให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อราย ผ่อนได้นานสูงสุด 5 ปี ไม่มีหลักประกัน

2. สินเชื่อเพื่อการก่อสร้าง ซ่อมแซม ต่อเติมที่อยู่อาศัย เพื่อฟื้นฟูผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายจากเหตุกาณ์ดังกล่าว ซึ่งในกรณีบุคคลทั่วไป ให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 1,000,000 บาทต่อราย และในกรณีเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท และสามารถผ่อนได้นานสูงสุด 30 ปี พร้อมยกเว้นค่าประเมินหลักประกันเต็มจำนวน

3. สินเชื่อเงินทุนสำหรับผู้ประกอบอาชีพรายย่อย เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ (ไม่รวมหาบเร่แผงลอยหวังช่วยยกระดับความเป็นอยู่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้วงเงินสินเชื่อ 30,000 - 100,000 บาทต่อราย ผ่อนได้นานสูงสุด 5 ปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียม Front End Fee อีกด้วย

โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นไปแล้ว อาทิ มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าธนาคารด้วยการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไร ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ส่งมอบเงินรับบริจาค100,000 บาท และส่วนของธนาคารอีก 50,000 บาทให้แก่จังหวัดนราธิวาส โดยส่วนยอดเงินรับบริจาคที่เข้าเพิ่มเติมมา  วันที่ 4 กันยายน  2566  อีกจำนวน 127,979.74 บาท ธนาคารมีนโยบายจะนำไปช่วยเหลือโดยตรงแก่ผู้ประสบภัยในการส่งเสริมการประกอบอาชีพต่อไป นายธีระ ยีโกบ กล่าวทิ้งท้าย