ครม.เคาะแพคเกจมาตราการเยียวยาหัวละ5,000 บาท อัดสินเชื่อพิเศษ ลดผลกระทบไวรัสโควิด

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการระยะที่ 2 เพื่อลดผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ให้แก่ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคม ทั้งแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระ โดยชุดแรกเป็นมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง แังนี้

1. สนับสนุนเงินเลี้ยงชีพเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อสามารถต่อเวลาออกไปได้อีก 

2. มาตรการสินเชื่อฉุกเฉินวงเงิน 40,000 ล้านบาทเสริมสภาพคล่องเพื่อป้องกันไม่ให้ไปเป็นลูกหนี้นอกระบบ โดยธนาคารของรัฐ ทั้งธนาคารออมสิน ,ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (...) และธนาคารกรุงไทย เป็นหลักในการีให้สินเชื่อ 10,000บาท/ราย อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1% ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน 

3. สินเชื่อพิเศษ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท โดยจะให้สินเชื่อมีหลักประกัน 50,000 บาท/ราย อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน 

4. สำนักงานธนานุเคราะห์ รับจำนำดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยกับประชาชนไม่เกิน0.125% ต่อเดือน  พร้อมกันนั้นจะลดภาระให้กับแรงงานด้วยการยืดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งการยื่นแบบและชำระภาษีออกไปเป็นเดือน ..63 ให้หักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น จาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท และยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์



สำหรับการลงทะเบียนตามมาตราการเยียวยาดังกล่าวนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้กล่าวถึงขั้นตอนการลงทะเบียนตามมาตรการดูแลและเยียวยากลุ่มแรงงานลูกจ้างชั่วคราว ผู้มีอาชีพอิสระ ที่อยู่นอกระบบประกันสังคม และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือนว่า แรงงานในกลุ่มนี้ซึ่งมีจำนวนราว 3,000,000 ราย สามารถเข้าลงทะเบียนระบบออนไลน์ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com หรือขอลงทะเบียนได้ที่สาขาธนาคารออมสิน ธนาคารกรุไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เกษตร (ธ.ก.ส.) สำส่วนกลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขอใช้สิทธิ์รับเงินชดเชยจากการว่างงานตามมาตรการของสำนักประกันสังคม คาดว่า การเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เพื่อขอรับเงินชดเชยน่าจะเริ่มดำเนินการได้ในวันเสาร์ที่ 29 มีนาคมนี้ เพื่อให้การจ่ายเงินชดเชยจากรัฐบาลสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้ นายลวรณยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่แนะนำให้ผู้จะใช้สิทธิ์รับเงินชดเชยนี้เดินทางลงทะเบียนที่สาขาของธนาคารรัฐทั้ง 3 แห่ง แต่แนะนำให้ลงทะเบียนผ่านออนไลน์แทน เพื่อเป็นการป้องการแพร่ระบาดและการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนการรับเงินช่วยเหลือนั้น รัฐบาลจะโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ แต่หากผู้ขอรับเงินชดเชยรายได้ไม่มีบัญชีพร้อมเพย์ รัฐบาลจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารตามเลขที่บัญชีที่ได้ลงทะเบียนไว้



นอกจากนี้ยังมีมาตรการดูแลและเยียวยา “ผู้ประกอบการ” ประกอบด้วย 7 มาตรการ ดังนี้

1. โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

2. เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้ 

(1) รอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 

(2) รอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2563  เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 50 ประมาณ 120,000 ล้านบาท และจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 51 ประมาณ 30,000 ล้านบาท

3. เลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี โดยเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษีทุกประเภทที่กรมสรรพากรจัดเก็บ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ (1) ผู้ประกอบการที่ต้องปิดสถานประกอบการตามคำสั่งของทางราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น (2) ผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เฉพาะที่มีเหตุอันสมควรให้เลื่อนเวลาออกไป โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณาเป็นรายกรณี เพื่อเป็นการลดภาระในการจัดทำเอกสารและการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

4.ขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้เสียภาษีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID กรมสรรพสามิตให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากเดิมยื่นขอชำระภาษีภายใน 10 วันเป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยให้ดำเนินการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) 

5.ขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบกิจการสถานบริการที่จัดเป็นบริการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตร ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ โดยรวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา และสถานอาบน้ำหรืออบตัว และนวด ตลอดจนกิจการเสี่ยงโชคประเภทสนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟ ให้ยื่นแบบรายการและชำระภาษีภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 

6.การยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรค ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงการรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้มากขึ้น 

7.มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด เช่าซื้อ ลีสซิ่ง และเจ้าหนี้อื่นที่ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกับสถาบันการเงิน) 

(1) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้ (2) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (3) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่จำนองเป็นประกันหนี้ของเจ้าหนี้ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ ดังกล่าว โดยลูกหนี้ต้องนำเงินนั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระหรือมีภาระผูกพันตามสัญญาประกันหนี้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และ (4) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับหนี้ที่เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

(2) ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน และห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามกรณีที่กำหนด ซึ่งกรมที่ดินจะดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าว ร้อยละ 0.01 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ การดำเนินการข้างต้นเป็นการขยายหลักเกณฑ์จากมาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียมภายใต้มาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 เพื่อให้ครอบคลุมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นและสามารถฟื้นฟูฐานะและกิจการแล้วประกอบอาชีพและธุรกิจต่อไปได้ และเจ้าหนี้และระบบสถาบันการเงินในภาพรวมมีต้นทุนลดลงและสามารถให้สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มเติมได้