RATCH ทุ่ม 2.5 หมื่นล้าน ซื้อโรงไฟฟ้าไพตัน อินโดฯ

“ราช กรุ๊ป” ทุ่มงบ 2.1 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าไพตันที่อินโดนีเซีย มูลค่ารวม 25,000 ล้านบาท กำลังผลิตรวม 2,045 เมกะวัตต์  รับรายได้ทันทีหลังธุรกรรมเสร็จ ด้าน บล.กรุงศรี พัฒนสิน ประเมินโรงไฟฟ้าอินโดฯ ดันมูลค่าหุ้น RATCH เพิ่มขึ้น 7 บาทต่อหุ้น

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น จำกัด (RHIS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของ RATCH ที่ถือหุ้นทั้งจำนวน ได้ลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นเข้าลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน Paiton Energy ในอินโดนีเซีย ของ PT Paiton Energy และ Minejesa Capital B.V.สัดส่วน 36.26% และลงทุนในธุรกิจเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าของ IPM Asia Pte,Ltd. สัดส่วน 65% โดย RHIS ได้บรรลุเงื่อนไขบังคับก่อนต่างๆของสัญญาซื้อขายหุ้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว หากดำเนินการชำระเงินจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

โรงไฟฟ้า Paiton เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง มีความสำคัญต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย มีกำลังการผลิตรวม 2,045 เมกะวัตต์ คิดเป็น 6% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดบนเกาะชวา โดยมี สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (PLN) คงเหลือ 21 ปี อย่างไรก็ตามช่วงปี 2561-2563 โรงไฟฟ้าไพตันมีรายเฉลี่ยประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อปี และมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด(มหาชน) ระบุว่า การเข้าซื้อ Paiton ที่ 36.26% ต่ำกว่า 809 ล้านเหรียญสหรัฐ จะมีแนวโน้มเป็น Upside เพิ่มเติมต่อราคาเป้าหมายในปีนี้ ปัจจุบันให้ Value โรงไฟฟ้าไพตันไว้ประมาณ 7 บาทต่อหุ้น

นางสาวชูศรียังได้กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 5-10% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีรายไดรวมอยู่ที่ 81,788 ล้านบาท  มาจากการรับรู้กำลังการผลิตใหม่ที่จะทยอยเข้ามาในปีนี้อีกไม่ต่ำกว่า 1,700 เมกะวัตต์ โดยเป้ารายได้ดังกล่าวยังไม่รวมดีลซื้อกิจการ (M&A) หากสามารถปิดดีลได้ตามแผน จะส่งผลให้รายได้ปีนี้เติบโตขึ้นอีก เนื่องจากสามารถรับรู้รายได้ได้ทันที

ส่วนแผนการลงทุนปีนี้ตั้งงบลงทุนไว้ 35,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนธุรกิจไฟฟ้า 29,000 ล้านบาท โดยงบลงทุนดังกล่าวดังกล่าวรวมดีล M&A แล้ว ส่วนที่เหลือใช้ลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่ไฟฟ้า (Non-power) อีก 6,000 ล้านบาท ขณะที่เงินลงทุน 5 ปี (ปี 2566-2570) อยู่ที่ 75,000-100,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ