TRINITY เผยหุ้นไทยครึ่งปีหลังสภาพคล่องลดลง แนะเก็บหุ้น Mega Trend

“ทรีนีตี้” มองตลาดหุ้นไตรมาส 4 จากสามปัจจัยหนุน เฟดมีโอกาสคงดอกเบี้ย - เงินดอลลาร์อ่อน - บอนด์ยีลพีคไปแล้ว ขณะที่หุ้นไทยระดับดัชนี 1450-1460 จุด ถูกเป็นอันดับที่ 5 ในรอบ 16 ปี ในเชิง Price Book Value ที่ 1.39X  แนวโน้มไตรมาส 3 หุ้นมีโอกาสปรับตัวลดลงจากเศรษฐกิจโตน้อย สภาพคล่องทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แนะลงทุนหุ้นอิง Mega Trend

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุน ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัว และทิศทาง Fund Flow โลกยังคงอ่อนแอกว่าช่วงต้นไตรมาส 3-4 ตลาดหุ้นจะขึ้นต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเติบโตเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยอย่างจริงจังในปลายไตรมาส 3 ในทางกลับกันถ้าเฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยทันทีตลาดหุ้นมัก ให้ผลตอบแทนเป็นลบ เพราะเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี 

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิ.ย.เฟดยังส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยอีกเนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลข Core PCE โดยที่ FOMC คาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในไตรมาส 3 นี้ (อาจจะเป็นปลายเดือนก.ค.) เพราะยังไม่สบายใจกับตัวเลข Core PCE ที่ยังไม่ปรับตัวลดลงที่ยังคงอยู่ระดับ 4.7%

“ตลาดหุ้นทั่วโลกไตรมาส 3 มีโอกาสปรับตัวลดลงเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และสภาพคล่อง ทั่วโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญและจะกดดันให้ตลาดหุ้นโลกและไทยในช่วงไตรมาส 3 อ่อนแอลง” ดร.วิศิษฐ์ กล่าว 

สภาพคล่องในตลาดโลกกำลังลดลงจาก 7 สาเหตุ ได้แก่

1.เฟดอาจจะต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดซับเม็ดเงินกว่า US$ 6.5 แสนล้านเหรียญ ภายในครึ่งปีหลังของปี 2566 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling)

2.ธนาคารกลางยุโรปจะต้องคืนเงิน LTRO กว่า 4.8 แสนล้านยูโร ในเดือนมิ.ย.- ก.ค.

3.Dot Plot ของเฟด มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25% 0.50% ในไตรมาส 3 หลังจากที่เฟดได้หยุดการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.

4.ความสนใจในการทำ QT ของเฟดอาจจะมีอีกครั้งและอาจจะถึงเดือนละ US$ 9.5 หมื่นล้าน จากปัจจุบันที่ US$7.8 หมื่นล้านเหรียญ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะนำไปสู่การแข็งค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะแข็งค่าขึ้นมากกว่า 2-3% แต่เป็นรอบท้าย ๆ ของการแข็งค่าของดอลลาร์

5. สัญญาณทางตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งตลาดการเงิน และเศรษฐกิจทั่วโลก กำลังบ่งบอกเศรษฐกิจกำลังถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ ที่อยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1982 บ่งบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่การถดถอยในไตรมาส 4 ปีนี้หรือปีหน้าและตัวเลข PMI ที่ตกต่ำลง

6. ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐอาจจะลดลงจากปัจจุบัน 2 แสน-3 แสนตำแหน่งต่อเดือน มาสู่ระดับต่ำกว่า 1 แสนตำแหน่งต่อเดือนในไตรมาส 4

7. สำหรับ SET Index ปริมาณเงินในระบบของไทย (M2 growth) เติบโตต่ำสุดตั้งแต่ปี ในรอบ 15 ปี นับจากปี 2551 โดย M2 growth จะเป็นตัวชี้นำของ SET Index ล่วงหน้า แต่นักลงทุนสถาบันจะเป็นฝ่ายซื้อสุทธิเนื่องจาก Earning Yield Gap ของตลาดหุ้น เมื่อเปรียบเทียบกับพันธบัตรไทยอยู่ในระดับน่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่จะหนุนเศรษฐกิจคือ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาและมีสัดส่วนมากกว่า 10% ของจีดีพี  รวมถึงการส่งออกไทยฟื้นตัวไตรมาส 4 โดยปกติการส่งออกของไทยจะอยู่ในช่วงเฉลี่ยเดือนละ 21,000-23,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่ฐานต่ำในไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่ระดับ 21,933 อาจทำให้เราเห็นการเติบโตของ Export ในไตรมาส 4 ปีนี้

“ดัชนีหุ้นไทยที่ระดับ 1450 จุด ถูกเป็นอันดับที่ 5 ในรอบ 16 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับการเกิด Covid รอบ 2 ในกลางปี 2021 และถือเป็นจุดที่น่าลงทุนในระยะกลาง Valuation ปัจจุบัน P/BV ที่ 1.44 เท่า” ดร.วิศิษฐ์กล่าว

ด้านกลยุทธ์มองว่าการลงทุนใน Mega Trend เช่น หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเอลนีโญ ซึ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นในครึ่งแรกของปี 2567 หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก AI Growth ทั่วโลก และหุ้นไทยที่มีการเติบโตทั้ง Yoy และ QoQ ในไตรมาส 2 เช่น BBL BEM CPALL CPAXT KTB MINT และมองกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก Searching for Yields (เงินปันผลมากกว่าอัตราผลตอบแทนรัฐบาล 10 ปี)


#ทรีนีตี้ #TRINITY #เศรษฐกิจ #ตลาดหุ้น #หุ้น #StocReview