ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.28 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.30 บาทต่อดอลลาร์


“อ่อนค่าลงเล็กน้อย”


จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.28 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 35.18 บาทต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ) ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ตามการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลงต่อเนื่องของราคาทองคำ ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ซึ่งแม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาดจะทำให้เฟดมีโอกาสที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป แต่ภาพดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดคาดหวังไว้อยู่แล้ว ทำให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ และหุ้นในธีม AI สามารถรีบาวด์ขึ้นแรง (Tesla +3.8%, Nvidia +3.1%) ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.65% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.15%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย +0.05% หนุนโดยความหวังว่าทางการจีนอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (L’ Oreal +0.8%, Rio Tinto +0.6%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังคงถูกกดดันโดยท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ที่ต่างย้ำจุดยืน พร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อสูง

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 3.80% อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถผ่านโซนดังกล่าวได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip) สอดคล้องกับมุมมองของนักวิเคราะห์หลายที่ ที่ต่างมองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.20%-3.50% ในช่วงสิ้นปี

ทางด้านตลาดค่าเงิน แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาด แต่ความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยก็ลดลง ตามการเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของผู้เล่นในตลาด ส่งผลให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102.5 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102.3-102.6 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงและการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ย่อตัวลงมาแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,920-1,925 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก อาทิ ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของทั้ง ECB และเฟด


 


นอกจากนี้ ปัจจัยการเมืองรัสเซียก็จะเป็นอีกสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งความวุ่นวายทางการเมืองรัสเซียก็อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้บ้างและอาจมีการขยับโซนในการแกว่งตัวที่สูงขึ้น หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้านแรกแถว 35.30 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ ทั้งนี้ หากไม่มีแรงเทขายสินทรัพย์ไทยที่รุนแรง เงินบาทก็อาจจะไม่ได้อ่อนค่าต่อไปมากนัก เพราะผู้เล่นในตลาดต่างก็รอติดตามปัจจัยข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ PCE และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ในช่วงท้ายสัปดาห์

ทั้งนี้ เงินบาทอาจจะยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นชัดเจนได้ในระยะสั้น จนกว่าจะเห็นการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ สถานการณ์การเมืองไทยเริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาล (ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง) นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน เรามองว่า เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินต่างประเทศจากบรรดาผู้นำเข้า ซึ่งเบื้องต้นเรามองว่า แนวรับแรกของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 35.10 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 35.00 บาทต่อดอลลาร์


 


เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน


 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.15-35.40 บาท/ดอลลาร์