โครงสร้างน้ำมัน 1 ลิตร มีต้นทุนอะไรบ้าง

โครงสร้างต้นทุนน้ำมัน 1 ลิตรมีอะไรบ้าง

    ปัญหาที่คนไทยส่วนใหญ่ตอนนี้กำลังประสบกัน นั่นคือสินค้าที่มีราคาแพง ซึ่งต้นเหตุหลักของสินค้าที่มีราคาแพงก็คือเรื่องของน้ำมันนั่นเอง หลายคนอยากรู้ว่าน้ำมันที่เราเติมกันอยู่ทุกวันนี้มีค่าใช้จ่ายอะไรกันบ้าง วันนี้เรามาทำความรู้จักโครงสร้างของราคาน้ำมันกัน

    ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันนั้น ไม่ใช่ราคาหน้าโรงกลั่น แต่เป็นราคาที่ผ่านผู้เกี่ยวข้องถึง 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่

           1.  โรงกลั่นน้ำมัน

           2. ผู้ค้าน้ำมันขายส่ง

           3. ปั๊มขายปลีกน้ำมัน

            4. รัฐบาลที่ทำหน้าที่เก็บภาษี

    วันนี้เราขอหยิบยกตัวอย่างโครงสร้างราคาน้ำมัน 1 ลิตร ประกอบด้วยอะไรกันบ้าง จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ต้นทุนราคาน้ำมัน 1 ลิตรแบ่งออกเป็น


1.  ต้นทุนเนื้อน้ำมัน ( 40 –60%) คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย

2.  ภาษีต่างๆ (30 –40%)  เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น โดยภาษีที่จัดเก็บ ได้แก่

    -ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ

    - ภาษีเทศบาล จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น

    - ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด

3. กองทุน (5 –20%) แบ่งเป็น

    - กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน ซึ่งน้ำมันแต่ละชนิดจะมีอัตราการเรียกเก็บไม่เท่ากัน

    - กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน

4. ค่าการตลาด (10 –18%) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ  ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน ผู้ประกอบการแต่ละรายสามารถกำหนดเองได้ แต่จะมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดโดยกระทรวงพลังงาน โดยให้กรอบค่าการตลาดไว้ว่าขึ้นลงได้ไม่เกินช่วงราคาเท่าไร