ร้านโชห่วย เศรษฐกิจชุมชนสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ร้านโชห่วยเสน่ห์ที่อยู่กับคู่ชุมชนไทยมานาน

 ร้านค้าปลีกรายย่อยหรือที่เราเรียกกันว่าร้านโชห่วยที่ตั้งอยู่ตามซอกซอยทุกพื้นที่ คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนระดับท้องถิ่น ถึงแม้ปัจจุบันร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างไร และแพลตฟอร์ม e-commerce ทั้งหลายจะเติบโตอย่างรวดเร็วเพียงใด แต่ร้านโชห่วยหรือร้านขายของชำยังอยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทย และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ

ส่วนแบ่งการตลาดกลุ่มใหญ่ยังคงอยู่ที่ร้านโชห่วย

    ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจโชห่วยขนาดเล็กประมาณ 400,000 ร้านค้า และโชห่วยขนาดกลาง จำนวน 18,735 ร้านค้า ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย กลุ่มใหญ่ยังคงอยู่ที่ “ร้านโชห่วย” ในส่วนแบ่งตลาด 44% รองลงมาคือ ร้านสะดวกซื้อ 31.8% และไฮเปอร์มาร์เก็ต 24.1% มีทั้งร้านที่อยู่มานาน ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น และร้านที่ปิดตัวลงไป แต่ในเวลาเดียวกันจะเกิดร้านใหม่ตลอด

ทำไมร้านโชห่วยยังเป็นช่องทางการขายหลักต่อคนไทย

    จุดเด่นของร้านโช่ห่วย คือ เป็นร้านใกล้บ้าน ที่มีทุกหนแห่ง ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตรอกซอกซอย ทุกชุมชน ทุกตำบล และอำเภอ ยิ่งในสถานการณ์ COVID-19 ที่คนต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น ทั้ง Work From Home – Study From Home ทำให้คนลดดการเดินทางไปซื้อสินค้าที่ร้านค้าขนาดใหญ่ และหันมาซื้อสินค้าจากร้านค้าใกล้บ้านแทน

การปรับตัวของร้านโชห่วยเมื่อ Modern Trade เริ่มขยายตัวสู่ชุมชน

    ปัจจุบันนี้ร้านค้าโชห่วยหลายร้านมีการปรับเปลี่ยนสินค้าให้มีความหลากหลาย มีการนำสินค้าที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ เข้ามาขายนอกเหนือจากขนม เครื่องดื่ม เครื่องใช้อุปโภค บริโภค รวมถึงบางร้านมีการจัดตั้งตู้เติมเงิน หรือแม้แต่กระทั่งตู้เติมน้ำมันอัตโนมัติไว้ให้บริการ อีกทั้งการบริการรับฝากชำระค่าสาธารณูปโภคอีกด้วย เป็นการปรับเปลี่ยนให้ต้องกับความต้องการของคนในชุมชนมากขึ้น

เมื่อกระทรวงพาณิชย์ต้องการพัฒนาร้านโชห่วยสู่ “สมาร์ทโชห่วย”

    อย่างไรก็ตาม ภาครัฐตระหนักดีว่า “โชห่วย” หรือ “ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก” นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น (Local Economy) เป็นธุรกิจฐานรากที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีจำนวนส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจค้าปลีกมากที่สุด ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ได้มีนโยบายสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีกไทย พัฒนาร้านโชห่วยสู่  “สมาร์ทโชห่วย”  เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้รายย่อย ดำเนินการการพัฒนาผู้ประกอบการ สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ ยกระดับการพัฒนาครอบคลุมหลายมิติ อาทิ การปรับภาพลักษณ์ร้านค้าโชห่วยให้ทันสมัยแต่คงความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น การส่งเสริมให้โชห่วยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการและการตลาด ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากเครือข่ายพันธมิตร

ผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์ต้องการกระจายสินค้าสู่ชุมชน

    ผู้ผลิตสินค้าพยายามสร้างความสัมพันธ์กับร้านค้าที่กระจายทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการนำความรู้ ระบบ ทำแคมเปญโปรโมชั่นเฉพาะร้านโชห่วย ก็จะยิ่งทำให้ผู้ผลิตรายนั้นมี Network ร้านค้าเหล่านี้ เป็นพันธมิตรจำหน่ายสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้มาก

    สถานการณ์ที่ร้านโชห่วยเผชิญอยู่ในปัจจุบัน มีทั้งเรื่องพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็ก ดังนั้น การจะเป็นโชห่วยที่อยู่รอดและอยู่รุ่งได้อย่างยั่งยืนได้จำเป็นต้องปรับตัว