มาทำความรู้จัก SMEs กับ Start Up สองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลาย ๆ คนมักจะได้ยินคำว่า Start Up โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มต้นสนใจในการทำธุรกิจ แต่ยังมีความสงสัยอยู่ว่า ระหว่าง Start Up กับ SME ต่างกันอย่างไร วันนี้เรามาเปรียบเทียบให้เห็นกันชัดๆ ถึงความแตกต่างระหว่าง Start Up กับ SME

SME คืออะไร

SME คือ ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางที่ผลิตสินค้า บริการ รวมถึงธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก SME มุ้งเน้นแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจเป็นอันดับแรก เพื่อประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนและปลอดภัย ด้วยการให้บริการอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม นอกจากนี้ SME ส่วนมากจะใช้เงินทุนของเจ้าของ หรืออาจมีการกู้ยืม เพื่อนำมาประกอบธุรกิจ SME ระกอบธุรกิจด้วยหาช่องวางในตลาดท้องถิ่นที่มีความคุ้นเคยหรือมีข้อได้เปรียบ ยกตัวอย่าง น้ำเต้าหู้ tofusan, ผู้ให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ, เจ้าของที่พัก/ โรงแรม, ร้านอาหารคลีน เป็นต้น

Start Up คืออะไร

            เป็นโมเดลธุรกิจที่ทำซ้ำได้และเติบโตแบบก้าวกระโดด ตั้งแต่ยังเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือธุรกิจใหม่ หรือพึ่งก่อตั้ง โดยมีแผนงานหรือกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้ขยายตัวได้ มุ่งเน้นที่การนำเสนอสิ่งใหม่ ที่ Disrupt อุตสาหกรรมเดิม หรือเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมาเลย Start Up เกือบทั้งหมด จะใช้เงินทุนของคนอื่น แค่มีไอเดียและทีมงานที่มีความรู้ ความสามารถพอก็จะมีนักลงทุนมาช่วยลงทุนให้เอง ยกตัวอย่าง Facebook, Instagram, airbnb, Uber

เปรียบเทียบทุกความแตกต่างระหว่าง SMEs กับ Start Up

1. ความแตกต่างด้านขนาดเริ่มต้น

หากวัดกันที่ “ขนาดของกิจการ”  Start Up มักมีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า และสินทรัพย์ส่วนใหญ่ในตอนเริ่มต้นจะมีน้ำหนักไปทาง “ไอเดียใหม่ ๆ”  หรือสินทรัพย์ทางปัญญา ส่วน SME จะมีขนาดธุรกิจหรือกิจการที่ใหญ่กว่า และเป็นสินทรัพย์ที่จำต้องได้

2. ความแตกต่างของรูปแบบธุรกิจ

SME เป็นสินค้าที่มีอยู่แล้ว โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม แต่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นธุรกิจขนาดเล็ก – ขนาดกลาง มีเจ้าของในการบริหารจัดการเพียงคนเดียว หรือเป็นธุรกิจครอบครัว และมีสินทรัพย์เป็นของตนเอง เช่น อาคาร รถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

Start Up เป็นการสร้างสิ่งใหม่เพื่อแก้ปัญหาบางอย่างหรือใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วย คอยปรับตัวตามกระแสพฤติกรรมของผู้บริโภค ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ เน้นพัฒนาเทคโนโลยีเป็นจุดขาย และอาจมีพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เพื่อช่วยให้ธุรกิจขยายอย่างรวดเร็ว ทำให้มีคนรู้จักกว้างมากขึ้น

3. ความแตกต่างด้านเทคโนโลยี

Start Up ส่วนใหญ่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เป็น “นวัตกรรม” ใหม่ ๆ เพื่อเข้ามาช่วย คอยปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภค

SME เป็นสินค้าที่มีบริการอยู่แล้ว ใช้เทคโนโลยีเดิม ๆ แต่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น อาจเป็นไอเดียที่ไม่ใหม่มาก

4. ความแตกต่างด้านแหล่งเงินทุน

Start Up มักระดมทุนจากนักลงทุนที่มีความสนใจในธุรกิจดังกล่าวมาลงทุนให้ก่อน

SME  มักใช้เงินทุนเจ้าของกิจการเป็นหลัก และอาจมีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน

ข้อดีของ SME

1. ได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเงินกู้ สิทธิประโยชน์ทางภาษี และความรู้ในการประกอบธุรกิจจากกรมพัฒนาธุรกิจด้านการค้า (DBD) สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เป็นต้น

2. ได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากบริษัทเอกชนชั้นนำ เช่น นโยบายเพื่อสังคมและชุมชนของแบรนด์ใหญ่

3. ปรับตัว ปรับปรุงได้รวดเร็วกว่าองค์กรใหญ่ เพราะโครงสร้างองค์กรไม่ซับซ้อนมากนัก สื่อสารกันได้ง่าย

ข้อเสียของ SME

1. SMEs ส่วนใหญ่ถูกต่อยอดมาจากธุรกิจครอบครัว ระบบการจัดการจึงมีน้อย หากไม่มีการปรับเปลี่ยนอาจถูกธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีระบบการจัดการที่ดีแซงได้

2. มีโอกาสขาดสภาพคล่องทางการเงิน เพราะเงินหมุนเวียนไม่พอกับรายจ่าย

3. อาจเสียภาษีมากขึ้น เนื่องจากรายการบัญชีอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะยังไม่มีระบบบริหารจัดการเอกสารและฐานข้อมูล ซึ่งมีโอกาสที่จะโดนเรียกเก็บภาษีแบบเหมาจ่าย แทนที่จะต้องจ่ายตามจริง

ข้อดีของ Startup

1. ได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาล ได้แก่ สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกรมสรรพากร การสนับสนุนกิจการหรืออุตสาหกรรมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และดิจิทัล เป็นต้น

2. ไม่ต้องใช้เงินทุนของตัวเองมากนัก เพราะมีนักลงทุนลงทุนให้ก่อน

3. อาจมีธุรกิจ Startup ที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ทำให้เติบโตง่ายและเร็วขึ้น

 ข้อเสียของ Startup

1. มีความเสี่ยงด้านการเงิน ด้วยความเป็นธุรกิจใหม่ จึงต้องใช้เงินในการสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์และเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน อีกทั้งยังมีการแย่งฐานผู้ใช้งานระหว่างกันอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงขาดทุน

2. เสี่ยงไม่ประสบความสำเร็จสูงมาก เนื่องจากไอเดียใหม่ ๆ บางอย่างอาจไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคเท่าที่ควร

 3. ไม่มีทรัพย์สินถาวร หากไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่สามารถนำทรัพย์สินอื่น ๆ ไปขายทอดตลาดได้เหมือนกับ SMEs เรียกได้ว่าไม่มีมูลค่าทางธุรกิจแล้วนั่นเอง

    อย่างไรก็ตาม ทั้ง SME และ Start Up มีความเหมือนตรงกันที่เป็นการทำกิจการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และต้องคอยปรับตัวธุรกิจให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะ SME หรือ Start Up ล้วนมีความเสี่ยง แต่ Start Up มีความเสี่ยงสูงกว่าอย่างแน่นอน แต่ผลตอบแทนก็สูงเช่นกันถ้าประสบความสำเร็จ ไม่สามารถพูดได้ว่า SME หรือ Start Up แบบไหนดีกว่า เพราะขึ้นอยู่กับต้นทุนและความกล้าและความพร้อมในการเผชิญความเสี่ยงด้วย