อยากรู้ไหมว่าคุณเป็นนักลงทุนสายไหนในตลาดหุ้น

    ต้องบอกได้เลยว่านาทีนี้คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจในเรื่องของการลงทุนกันมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้น  ส่วนหนึ่งเพราะแรงจูงในเรื่องของผลตอบแทนหรือผลกำไรเรียกได้ว่าเป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะประสบผลสำเร็จในเรื่องของการลงทุน

            “กว่า 80% นักลงทุนไทยถือหุ้นไม่เกิน 4 เดือน เพียงเพราะเลือกหุ้นไม่ถูกจริตของตัวเอง” ความล้มเหลว “ในการลงทุน” ของคนส่วนใหญ่เกิดจากการไม่รู้จักตัวเอง ว่าจริง ๆ แล้วมตัวเองนั่นถนัดหรือเหมาะสมกับการลงทุนแบบไหน

            ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มลงทุน ควรสำรวจตัวเองก่อนว่าสไตล์การลงทุนของตัวเองเป็นอย่างไร มีสไตล์ที่ชัดเจน รู้ว่าตัวเองถนัดและไม่ถนัดการลงทุนแบบไหน ซึ่งสไตล์การลงทุนสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทดังนี้

1. นักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐาน มีลักษณะดังนี้

    - การซื้อหุ้นเท่ากับการซื้อกิจการ เข้าเป็นหุ้นส่วนของกิจการ และถือหุ้นไปตราบเท่าที่กิจการยังดำเนินการต่อไปได้ดี

    - ประเมินมูลค่าที่แท้จริงของราคาหุ้นก่อนเข้าซื้อ จะซื้อหุ้นในราคา Undervalued คือซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง

    - อดทนรอเข้าซื้อหุ้นโดยมีส่วนเผื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) ซื้อในราคาต่ำกว่ามูลค่าที่เพิ่มขึ้น 20-50% จากปีก่อนหน้า

    - ตัวอย่างนักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐาน เช่น วอร์เรน บัฟเฟต์

2. นักลงทุนสายเทคนิคหรือสายกราฟ มีลักษณะดังนี้

    - นักลงทุนสายนี้จะมีเชื่อว่าหุ้นที่วิเคราะห์ทางเทคนิค ต้องมีแนวโน้ม(Trend)เป็นขาขึ้น และมีปริมาณการซื้อขายที่มากผิดปกติ แสดงว่าหุ้นนั้นเป็นที่สนใจของตลาด

  - จะพิจารณาการซื้อจากกราฟเท่านั้นไม่สนใจปัจจัยพื้นฐาน เพราะเชื่อว่าข้อมูลทุกอย่างสะท้อนอยู่ในราคาหุ้นแล้ว จะซื้อหุ้นที่แนวโน้มราคาขึ้นเท่านั้น จะไม่ซื้อหุ้นในช่วงขาลงเด็ดขาด

3. นักลงทุนสายผสมผสาน หรือ Hybrid มีลักษณะดังนี้

    - เป็นนักลงทุนที่เลือกลงทุนในหุ้นโดยพิจารณาทั้งปัจจัยพื้นฐานและกราฟเทคนิค และปัจจัยอื่นมาสนับสนุนในการประกอบการตัดสินใจลงทุน

    - หลักการเลือกหุ้นแบบผสมผสาน เช่นการเลือกหุ้น CAN SLIM อ่านว่า “แคน สลิม” คิดค้นโดย วิลเลี่ยม โอนีล นักลงทุนชื่อดัง ได้คิดค้นหลักการคัดหุ้นพื้นฐานดี น่าลงทุน 7 อย่างดังนี้

    1. Current Earnings กำไรต่อหุ้นของไตรมาสล่าสุด ควรจะเพิ่มขึ้น 25-50% จากปีก่อนหน้า

    2. Annual Earnings บริษัทควรจะมีการเติบโตที่ชัดเจนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของกำไรต่อหุ้น ควรจะเพิ่มขึ้น 25-50% ต่อปี หรือ ยิ่งสูงก็ยิ่งดี

    3. New Product บริษัทสามารถสร้างกำไรและเติบโตได้มาก ๆ มีผลิตภัณฑ์ บริการ เทคโนโลยี เข้าถึงกลุ่มตลาดใหม่ ๆ อยู่เสมอ หรือมี Business Model ใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มยอดขายและกำไรอย่างมหาศาล

    4. Shares Outstanding เชื่อว่าจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดซื้อขาย ถ้าจำนวนหุ้นหมุนเวียนในตลาดมีจำนวนน้อย โอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้นสามารถทำได้ง่ายกว่าหุ้นที่มีจำนวนหมุนเวียนในตลาดมากว่า

    5. Leading Industryหุ้นที่ดีควรเป็นผู้นำของตลาดหรือผู้นำของอุตสาหกรรม แสดงถึงความแข็งแกร่งกว่าหุ้นที่ธุรกิจที่คล้ายกัน

    6. Institutional Sponsorship การที่หุ้นจะขึ้นได้ยาวและแรงต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล เงินลงทุนจากสถาบันใหญ่ๆ จึงเป็นแหล่งที่มีความสำคัญ ต้องมองหาหุ้นที่สถาบันให้ความสนใจ

    7. Market Direction ไม่ว่าหุ้นจะดีแค่ไหน ถ้าหากภาพรวมตลาดเป็นขาลงก็มักจะลงตาม ดังนั้นควรลงทุนในทิศทางที่เป็นขาขึ้นเท่านั้น

    - การเลือกหุ้นให้ได้ผลดีนั้นต้องวิเคราะทั้งปัจจัยพื้นฐานและเทคนิคมารวมกัน (Fundamental & Technical Analysis) คือ นอกจากต้องเป็นบริษัทที่ดี จังหวะซื้อขายต้องเหมาะสมด้วย

4.  นักลงทุนสายออมแบบ DCA (Passive Investment) มีลักษณะดังนี้

DCA เป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุน จะลงทุนอย่างสม่ำเสมอในสินทรัพย์ที่เราเลือกไว้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือกองทุนเป็นจำนวนเงินเท่า ๆ กันทุกครั้ง โดยไม่สนใจว่าสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนจะราคาเท่าไร ทำให้ราคาของสินทรัพย์ที่ได้จะเฉลี่ย ๆ กันไป ซึ่งความถี่ในการ DCA ก็มักจะอยู่ที่รายเดือน เป็นการสร้างวินัยในการลงทุน เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาจับจังหวะการลงทุน แต่อยากลงทุนระยะยาว และมีวินัยการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

5. นักลงทุนสายตามกระแส (ไม่มีแนว) มีลักษณะดังนี้

    - จะเล่นหุ้นตามกระแสที่มีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือเล่นตามเซียนหรือเจ้าของธุรกิจ โดยไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูล ไม่มีแนวการลงทุนเป็นของตัวเอง ซึ่งถ้าคุณเป็นนักลงทุนในสายนี้ โอกาสในการประสบความสำเร็จนั่นต่ำมาก แนะนำให้ศึกษาข้อมูลการลงทุนก่อนตัดสินใจการลงทุน

    โดยสรุปแล้ว นักลงทุนควรรู้จักตัวเองก่อนว่ามีสไตล์การลงทุนเป็นแบบไหน เพราะถ้ารู้ว่าตัวเองเป็นแบบไหน ใจร้อน ใจเย็น รอได้ หรือรอไม่ได้ ก็จะทำให้สามารถเลือกการลงทุนที่เหมาะสมและตอบโจทย์ และต้องหมั่นปรับพอร์ตตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเพื่อให้ได้ผลตอบแทนได้ตรงตามเป้าหมาย หากหมั่นฝึกฝนเป็นประจำ จะทำให้คุณเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จได้ในตลาดการลงทุน